Table of Contents
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เรามันเห็นคำว่า Trigger warnings อยู่ในเนื้อหาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิยาย ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ เมื่อได้เห็นแล้วสงสัยไหมว่ามีไว้เพื่ออะไร คำเตือนนี้ไม่ใช่แค่คำเตือนที่โผล่ขึ้นมาเพื่อเตือนเรื่องน่ากลัวทั่วไป แต่มีบทบาทสำคัญเพื่อรับผิดชอบความรู้สึก หรือสภาพจิตใจของผู้ทั่วชมด้วย
1 Trigger Warning คืออะไร
Trigger Warning (หรืออาจรู้จักกันในชื่อ Content Warning) คือ คำเตือนเนื้อหารุนแรงที่แจ้งให้ผู้อ่าน หรือผู้ฟังได้ทราบก่อนเข้าเนื้อหา เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่ไม่สบายใจ หรือแรงกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์เลวร้ายที่เคยผ่านมา ทำให้ผู้อ่านได้เตรียมพร้อมกับเนื้อหาที่จะได้เจอ หรือเลือกที่จะไม่ไปชมงานชิ้นนั้นได้
2 ทำไมต้องมี Trigger Warning
อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า Trigger Warning นั้นมีไว้เพื่อให้ผู้คนได้หลีกเลี่ยงความรู้สึกที่ไม่ดีของตัวเอง อย่างไรก็ตามคำเตือนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการห้าม หรือป้องกันคนที่เข้ามารับชมงาน แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคารพสุขภาพจิตของผู้ที่รับชมผลงาน สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้พวกเขาสามารถเลือกว่าจะดู หรืออ่านงานนั้นต่อหรือไม่ ซึ่งเป็นผลดีค่อนข้างมากกับผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เลวร้าย แต่ไม่เพียงเป็นผลดีกับผู้ที่ป่วยเท่านั้น เพราะคนทั่วไปนั้นสามารถถูกกระตุ้นจากบางอย่างเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เลือด การทำร้ายร่างกาย หรือการฆาตกรรมที่อยู่ในสื่อต่าง ๆ
หากจะลองยกตัวอย่างเราเคยดูหนังเรื่องหนึ่งที่เป็นแนวสยองขวัญเลือดสาด ตัวเราที่เข้าไปดูเป็นคนที่ค่อนข้างกลัวเลือด และพวกบาดแผลใหญ่ ๆ อยู่แล้ว ซึ่งก่อนเริ่มเรื่องก็ได้มีคำเตือนเรื่องเลือดขึ้นมา แต่เพราะเนื้อเรื่องที่น่าสนใจเราเลยตัดสินใจดูต่อ จากคำเตือนนั้นทำให้เราได้ระวังฉากเหล่านั้น แล้วก็เลี่ยงฉากเหล่านั้นโดยการกรอหนัง หรือลดแสงหน้าจอตอนนั้นได้
จากประสบการณ์ของเรานั้นยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของ Trigger Warning ว่ามีความลึกซึ้งมากกว่าการคำเตือน เพราะไม่เพียงช่วยให้เราเตรียมใจเท่านั้น แต่ยังเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ทำให้สะท้อนถึงความรับผิดชอบ และความเข้าใจผู้ชมที่หลากหลาย
3 การสปอยล์ที่มากับ Trigger Warning
แม้การมีคำเตือนเนื้อหารุนแรงไว้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย แต่ในทางกลับกันก็มีการตั้งคำถามมาว่าคำเตือนเหล่านี้เป็นการสปอยล์เนื้อหา โดยเฉพาะการติดคำเตือน อย่างเช่น ตัวละครหลักตาย (Major Character Death) ตัวละครรองตาย (Minor Character Death) หรือการจบที่ไม่สมหวัง (Bad Ending) ซึ่งต่างจากคำเตือนทั่วไป เช่น ความรุนแรง(Violence) การเหยียดเพศ(Sexist) หรือเหยียดสีผิว(Racist) ที่ไม่ทำให้เกิดข้อถกเถียง ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่าคำเตือนพวกนี้เป็นการเปิดเผยเนื้อหน้าล่วงหน้า ที่จะทำให้เสียอรรถรสในการเลือกชมงานหรือไม่
การแสดงคำเตือนที่ระบุเนื้อหาสำคัญของเนื้อเรื่องแบบนี้ นอกจากจะมีผลต่ออรรถรสของคนที่มงานแล้ว ยังทำให้เราเจอความแตกต่าง และความต้องการในการรับรู้ของผู้ที่รับชมงานด้วย คนบางกลุ่มอาจจะอยากรู้เนื้อหาสำคัญเพื่อให้ตัวเองเตรียมใจกับเนื้อหาได้ แต่ก็ทำให้บางกลุ่มหมดอารมณ์ หรือทำให้ประสบการณ์รับชมลดลงเป็นอย่างมาก หรือคำเตือนที่ติดไว้อาจทำให้เนื้อเรื่องที่กำลังจะได้รู้เป็นเรื่องรอง เพราะใจไปจดจ่ออยู่กับคำเตือนจนไม่สามารถรับรู้เนื้อเรื่องได้อย่างเต็มที่ เช่น การที่ได้ไปรู้ว่าจะมีตัวละครตาย อาจจะทำให้ผู้ชมไม่อยากติดตามงานนั้นต่อ แม้เนื้อเรื่องจะน่าสนใจแค่ไหนก็ตาม
4 เราจะติดคำเตือนยังไงไม่ให้เป็นการสปอยล์
ถึงการใส่คำเตือนนั้นคล้ายจะเป็นการสปอยล์ของเนื้อหา แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีคำเตือนไว้นั้นจะสามารถทำให้ผู้อ่านเตรียมพร้อมกับสิ่งที่อาจกระตุ้นตัวเอง หรือประสบการณ์ได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการใส่คำเตือนอย่างระมัดระวังจะเป็นการสร้างสมดุลให้กับผู้อ่าน และการไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญมากจนเกินไป วิธีการทั่วไปที่อาจใช้ได้ คือ การใช้คำแบบโดยรวม เพื่อพูดถึงประเด็นที่อาจทำให้เกิดการกระตุ้น เช่น ถ้ามีตัวละครหลักตายในเรื่อง ก็ใช้เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการตาย วิธีนี้จะทำให้ผู้อ่านที่มีความอ่อนไหวสามารถเลือกได้ว่าจะอ่านงานนี้ต่อหรือไม่
และอีกวิธีหนึ่ง คือ การติดคำเตือนไว้แยกจากเนื้อหาของนิยาย เช่น การขึ้นย่อหน้าใหม่ หรือแม้กระทั่งการเขียนนิยายลงในเว็บแพล็ตฟอร์มใดก็ตามที่มีฟังก์ชั่นที่เราสามารถซ่อนข้อความได้ การใส่คำเตือนเนื้อหาไว้ในการซ่อนข้อความก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้คำเตือนเปิดเผยเนื้อหาสำคัญได้ และยังเป็นการเคารพผู้อ่าน หรือผู้ชมในหลาย ๆ กลุ่มอีกด้วย
จากข้อมูลทั้งหมดเราได้เห็นว่า Trigger Warning เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราระมัดระวังเนื้อหาจากสื่อ และปกป้องสุขภาพจิตของเรา โดยเฉพาะในยุคที่คนสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้นแบบนี้แล้วด้วย อย่างไรก็ตามการใช้นั้นจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลมากจนเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นการหาสมดุลระหว่างการเตือนเนื้อหาล่วงหน้า และการรักษาเนื้อหาจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญ ในบทความนี้เราได้เสนอไปแล้ว 2 วิธี ทั้งการติดคำเตือนเป็นคำทั่ว ๆ ไป และติดคำเตือนแบบซ่อนไว้ เพื่อให้ผู้รับสื่อเลือกเปิดเองเมื่อต้องการ เพื่อให้คำเตือนนั้นได้ทำหน้าที่ของตัวเอง และไม่ลดทอนอรรถรสในการเสพงานนั้น ๆ