Content Warning: บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศและความสัมพันธ์ร่วมสายเลือด

“What have I left, my friends, to see,
To cherish, whom to speak with, or
To listen to, with joy?
Lead me away at once, far from Thebes;
Lead me away, my friends!
I have destroyed; I have accursed, and, what is more,
Hateful to Heaven, as no other.”
– Sophocles, Oedipus the King
แม้นจะศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการอ่านวิเคราะห์วรรณกรรมโดยตรง กระนั้นแล้ว ผู้เขียนก็ไม่ใคร่คิดว่าตัวเองมีคุณลักษณะสอดคล้องกับความเป็น “นักศึกษาวรรณกรรม” เท่าไหร่นัก สำนวน “แกะดำ” ก็ดูกล่าวเกินจริงไปเสียหน่อย แต่หากจะให้บรรยายความรู้สึกเช่นนี้ออกมาอย่างแน่ชัดก็ประดักประเดิดเหลือเกินจะกล่าว ซ้ำยังตอกย้ำความเป็นชนชั้นกลางตื้นเขินของตัวเองอีก ความเป็นอื่นคงเป็นมโนทัศน์เลื่อนลอยเช่นนี้ ยิ่งเราพยายามหาคำจำกัดความเพื่อนิยามมันมากเพียงใด ผลลัพธ์สุดท้ายก็มีแต่รั้นจะทำให้มันสูญสิ้นซึ่งคุณสมบัติของ “ความเป็นอื่น” มากขึ้นเท่านั้น เนื่องด้วยไม่ชำนิชำนาญในทฤษฎีวรรณกรรมมากนัก ผู้เขียนคงสามารถพูดถึงความเป็นอื่นได้แค่ในระดับผิวเผิน(และฉาบฉวย)ดังที่เห็น
มันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายมิใช่น้อยหากเราเชื่อว่าวรรณกรรมที่ดีคือ วรรณกรรมที่เป็น “canon” และมีเนื้อหาถูกต้องสอนใจตามทำนองคลองธรรมของสังคมเพียงอย่างเดียว ท่ามกลางเวทีโต้แย้งขนาดย่อมถึงคุณลักษณะของ “วรรณกรรมที่ดี” (ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามโลกออนไลน์) ในฐานะนักศึกษาวรรณกรรมตัวเล็กตัวน้อยคนนึง ผู้เขียนกลับมองว่า “วรรณกรรมที่ดี” นั้นไม่มีอยู่จริง จะมีก็แต่วรรณกรรมที่ทำงานกับความรู้สึกทั้งด้านบวกหรือลบของเราได้เป็นอย่างดีต่างหาก ยิ่งกับความรู้สึกแปลกแยกไร้คำนิยามชวนอิหลักอิเหลื่อนี้แล้ว นวนิยาย “self-published” เรื่อง Before It Starts to Rain ของ Orca (ซึ่งไม่เข้าเคล้ากับคุณสมบัติของ “วรรณกรรมที่ดี” ข้างต้นข้อไหนเลย) ดูจะทำงานตอบสนองกับมันได้มีประสิทธิภาพและติดตาตรึงใจเป็นที่สุด

Before It Starts to Rain (ที่ผู้เขียนถือวิสาสะขอตั้งชื่อภาษาไทยให้ว่า ‘ก่อนพิรุณพรำ’) โดยนักเขียนนามปากกา Orca (ภาพประกอบและหน้าปกโดย Sasi Tee) อ้างอิงจากการจัดประเภทของแพลตฟอร์มวางขาย เป็นนวนิยายอิเล็กทรอนิกส์แนวชายรักชายอิงประวัติศาสตร์ (Historical Fiction) ฉากหลังของเรื่องตั้งอยู่ในจังหวัดฟุคุโอกะของญี่ปุ่นช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ 8 ปี ท่ามกลางซากปรักหักพังของอุดมการณ์ชาตินิยมและประเทศซึ่งเคยเรืองเดชด้วยอำนาจทางการทหาร การตายของมารดาบังเกิดเกล้าบังคับให้ “ฮวน” หรือ “เทรุฮิโระ” ชายหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น-สเปน กลับมาเหยียบแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเองอีกครั้งเพื่อรับมรดก ทว่าการกลับมาเยือนญี่ปุ่นของฮวนในครั้งนี้มิได้ดำเนินไปด้วยแรงผลักดันอันทะเยอทะยานทางการเงินแต่อย่างใด ฮวนต้องกลับมาเผชิญหน้ากับบาดแผลในอดีตและต่อสู้กับสงครามในใจอีกครั้ง เพื่อเรียนรู้บทเรียนอันเรียบง่ายทว่าสำคัญยิ่ง นั่นคือ “ความสุขไม่ใช่เรื่องที่สายเกินไป”
Before It Starts to Rain มีองค์ประกอบการเล่าเรื่องอันชวนให้นึกถึงกลิ่นอายการ์ตูนวายหรือ มังงะ Yaoi (Boys’ Love) สมัยก่อนของญี่ปุ่นอยู่มิใช่น้อย ทั้งตัวเอกของเรื่องอย่าง “ฮวน” ที่ครอบครองความงามจนผู้ยลโฉมแทบลืมหายใจ (ซึ่งความงามเช่นนี้แหละก็นำภัยมาสู่ตัวเขา) ทั้งบรรยากาศซบเซาทะมึนทึมหลังสงคราม ทั้งโศกนาฏกรรมภายในครอบครัวที่ก้าวข้ามเส้นหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมไปโดยสิ้นเชิง และบทสรุปสุดท้ายแสนหวานอมขมกลืน เมื่อผนวกเข้ากับภาษาบรรยายเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ทว่าชวนติดตามแล้ว สำหรับผู้เขียน นวนิยายเรื่องนี้จึงมิได้ทำหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทอารมณ์ได้ดีเป็นอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า “วรรรณกรรมที่ดี” ก็ยังคงเป็น “วรรณกรรมที่ดี” อยู่วันยังค่ำ แม้นจะไม่ผ่านการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หรืออยู่นอกกระแสสุดชายขอบการมองเห็นของมวลชนมากแค่ไหนก็ตาม
คุณลักษณะโดดเด่นประการแรกของ Before It Starts to Rain คือรูปแบบการเล่าเรื่องแบบมุมมองบุคคลที่ 3 โดยมีการสลับตัวละครเจ้าของเรื่องเล่าไปมาเพื่อให้สัมพันธ์กับจังหวะท้องเรื่อง เป็นเรื่องปรกติในห้องเรียนวรรณกรรรมที่จะยอมรับกันว่ารูปแบบการบรรยายประเภทบุคคลที่ 1 นั้นจะทำให้เราสนิทชิดเชื้อกับตัวละครมากที่สุด ทว่าการเล่าเรื่องผ่านสายตาของพระเจ้าในนิยายเรื่องนี้กลับทำให้เราใกล้ชิดตัวละครได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซ้ำยังเข้าใจกระบวนการคิดของพวกเขาทะลุปรุโปร่ง ใครหลายคนอาจมองว่าวิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้ขาดชั้นเชิง ไม่กระเตื้องความคิดอ่าน แต่ผู้เขียนคิดเห็นตรงกันข้าม การเลือก “บอก” ในสิ่งที่อยากบอกและให้เวลาแก่ “สิ่งที่บอก” ได้ทำงานกับคนอ่านต่างหากคือจุดเด่นสำคัญของนิยายเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่นฉากการเผชิญหน้ากันครั้งแรกหลังเดินทางถึงฟุคุโอกะระหว่างฮวนกับน้องชายต่างบิดา “ทะดะโยชิ” ซึ่งได้บรรยายโดยมีทะดะโยชิเป็นจุดโฟกัสหลักเอาไว้ว่า
“ลำคอของทะดะโยชิแห้งผาก มือของเขาสั่น เขาจึงเอามือไปไขว้ไว้ข้างหลังเสีย ทะดะโยชิไม่ได้หวั่นไหวเพราะรูปลักษณ์ของเทรุฮิโระ ทะดะโยชิเห็นเรือนผมสีทองนั่นมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย นัยน์ตาก้าวร้าวของเขาเขม่นดวงตาสีทองคำคู่นั้นมาแล้วไม่รู้กี่หนต่อกี่หน
แต่ครั้งนี้ เทรุฮิโระมีสิ่งหนึ่งที่ตอนเด็กไม่มี
อำนาจ
อิสรภาพ” (น. 48)
แม้จะมิได้บรรยายผ่านมุมมองบุคคลที่ 1 แต่เราก็สัมผัสถึงความประดักประเดิดที่ทะดะโยชิมีต่อฮวนได้อย่างแจ่มชัด คงเป็นเพราะอิทธิพลจากเอกลักษณ์การเขียนของ Orca ที่ใช้ประโยชน์จากภาษากายและกิริยาท่าทางของตัวละครอย่างเต็มที่ ทะดะโยชิชิงชังฮวน แต่ในขณะเดียวกันก็หวาดหวั่น เนื่องจากความกลัว เจ้าตัวจึงเก็บมือไพล่ไว้ข้างหลัง หากฉากนี้เปลี่ยนการบรรยายเป็นมุมมองบุคคลที่ 1 แทน เราคงไม่มีทางรับรู้ความรู้สึกแอบซ่อนตรงนี้เพราะคนถือตัวอย่างทะดะโยชินั้นไม่มีวันที่จะยอมรับออกมาเต็มปากว่าตัวเองกลัวพี่ชายต่างบิดา แม้นจะเป็นเพียงในสำนึกก็ตาม
รูปแบบการเล่าเรื่องอีกประการที่น่าสนใจของ Before It Starts to Rain คือการแทรกบทกลอน (ทั้งกลอนเปล่าและโคลงสี่สุภาพ) เรื่องเล่ามุขปาฐะ และเกล็ดประวัติศาสตร์นอกกระแสต่าง ๆ ลงไปในเรื่อง เนื่องจากตัวผู้เขียนไม่สันทัดการอ่านกลอนภาษาไทยนัก จึงอาจพูดถึงได้ไม่ลุ่มลึกเท่าที่ควร กลอนและเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าในนิยายทำหน้าที่นำเสนอพล็อตรอง (subplot) ของเรื่่อง ซึ่งก็คือ “ตำนานยักษ์กินน้ำฝน” อันมีส่วนเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับฮวนและตัวละครอื่น ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ บทเปิดของนิยายก็ขึ้นต้นด้วยตำนานดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน
“‘ลูกเอ๋ยจงจดจำไว้ ยามใดที่ฝนตก เจ้าต้องสำรวมอยู่ในบ้าน อย่าออกไปไหน พวกยักษ์มันจะผุดขึ้นมาจากนรก พวกมันขึ้นมาดื่มน้ำฝน อันเป็นน้ำตาแห่งทวยเทพ หากถูกยักษ์เห็นเข้า พวกมันจะช่วงชิงวิญญาณและควักหัวใจของเจ้าไป’” (น. 9)
เมื่อถูกใช้เป็นบทเปิดของนิยาย แน่นอนว่าย่อมต้องมีความสำคัญกับเนื้อเรื่อง ความจริงแล้วตำนานดังกล่าวเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าหลอกเด็กที่ “โคคิ” เด็กหนุ่มวัยรุ่นกำพร้าประจำวัดชิมโบจิถูกพร่ำสอนมา แต่เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไประยะนึง ทั้งโคคิและฮวนต่างก็ตีความตำนานยักษากินฝนเรื่องนี้ต่างออกไป จากนิทานปากต่อปากธรรมดากลายเป็นสัญญะสำคัญของนิยายเรื่องนี้

“ยักษ์” เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ว่าจะอยู่ในเรื่องเล่าหรือตำนานปรัมปราจากสัญชาติไหน ๆ ก็มีจุดร่วมกันตรงที่รูปลักษณ์น่าเกลียดน่ากลัวและนิสัยก้าวร้าวโหดร้าย ลักษณะสำคัญอีกประการคือ ยักษ์มักจะอาศัยแยกตัวออกห่างจากสังคมมนุษย์ โอนิ (鬼) จากนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่นซ่อนตัวตามป่าเขาและถึงขั้นโดนปาถั่วขับไล่จากชาวบ้านในเทศกาลเซ็ตซึบุน ยักษ์ตาเดียวไซคลอปส์โพลิเฟมัส (Polyphemus) จากมหากาพย์โอดิสซีพำนักพักพิงบนหมู่เกาะห่างไกลผู้คน จะเห็นได้ชัดว่าถ้าหากพูดถึง “ความเป็นอื่น” แล้ว ยักษ์คงจะเข้าเค้าได้อย่างเหมาะเจาะ ทั้งชาวบ้านและโอดิสซีต่างไม่มองว่ายักษ์เป็นพวกเดียวกันกับมนุษย์ แม้นในตำนานจะเล่าชัดเจนว่าพวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีที่ทางตามธรรมชาติเช่นเดียวกันกับหมูหมากาไก่ แต่มนุษย์เราก็ยังรู้สึกว่าต้องกำจัดขับไล่ยักษ์ออกไป ยิ่งประสมร่วมเข้ากับคุณสมบัติด้านอุปนิสัยและหน้าตาที่ตรงกันในแต่ละตำนานของแต่ละท้องที่ด้วยแล้ว อาจสรุปได้ว่ายักษ์คือสัญญะของความเป็นอื่น
แล้วข้อสรุปตรงนี้เกี่ยวข้องเยี่ยงไรกับนิยายเรื่องนี้?
เพราะฮวนคือยักษ์ที่ผุดขึ้นมาจากนรกเพื่อช่วงชิงวิญญาณและควักหัวใจของมนุษย์โดยแท้

หากความเป็นอื่นมีร่างมนุษย์ ฮวนก็คือความเป็นอื่น ภายใต้เบื้องหน้าของความหยิ่งทระนงในอิสรภาพและอำนาจที่ได้รับมาเมื่อกาลหลัง ฮวนจมปลักกับวิถีชีวิตแบบพวกเขาพวกเราตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่ชาติกำเนิดของเขา ถึงมารดาของฮวนจะเป็นหญิงงามชาวญี่ปุ่นแท้ แต่กรรมพันธ์จากบิดาคนขาวกลับแรงกว่า แม้นฮวนจะสื่อสารญี่ปุ่นได้คล่องแคล่วมากเพียงใด แต่เรือนผมสีทองกับนัยน์ตาสีทองคำของเขาก็ไม่อาจก้าวข้ามอคติทางชาติพันธุ์ในช่วงเวลาที่อุดมการณ์ชาตินิยมเข้มข้นสุดขีดได้ ฮวนถูกตีตัวออกห่างตั้งแต่เด็ก ถูกรุมล้อเลียนกลั่นแกล้ง รอยร้าวแรกปริแตกตั้งแต่เข้าเรียนในชั้นประถม สังเกตได้จากบทบรรยายข้างล่าง
“ผมสีทองหยักศกทำให้ฮวนโดดเด่นสะดุดตา ตัวก็สูงชะรูดนำคนอื่น ๆ ในชั้นเรียน ทุกสิ่งในร่างกายของเขาแลดูแปลกแยก ไม่ว่าจะเป็นดวงตา จมูก ปาก โครงหน้า เขารู้สึกเหมือนเป็นจุดขาวบนผ้าย้อมสีดำ จุดที่ทำให้ผ้าหมดความบริบูรณ์” (น. 35)
มิเพียงเท่านี้ มนุษย์เราหากได้มองสิ่งใดว่าแปลกแยกผิดแผกจากตัวเองแล้ว เราย่อมปฏิบัติต่อสิ่ง ๆ นั้นด้วยมาตรฐานทางสังคมที่แตกต่างออกไปจากครรลองปรกติที่เรายึดถือ เพราะฮวนเป็นยักษา เขาจึงถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่คน เมื่อไม่ถูกยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกัน ฮวนจึงยอมขึ้นเรือไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สเปนตอนอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์แม้นจะหวงแหนทะดะโยชิกับแม่เลี้ยงของเขามากเพียงใดก็ตาม
ชั่วขณะหนึ่งที่อ่านนิยายเรื่องนี้ ตัวละครฮวนทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทละครโศกนาฏกรรมกรีกเรื่อง เอดิปุส เร็กซ์ (Oedipus Rex) ของ โซโพคลีส (Sophocles) อยู่มิใช่น้อย นักอ่านส่วนใหญ่อาจรู้จักเอดิปุสจากวีรกรรม “ฆ่าพ่อล่อแม่” อันเลื่องลือของเจ้าตัว ห้องเรียนวิชาการอ่านวรรณกรรมตอนปี 2 ทำให้ผู้เขียนทราบว่าความตลกร้ายชวนหัวของบทละครเอดิปุสอยู่ที่การเล่นกับ “irony” และ “paradox” ของตัวเรื่อง เมื่อหายนะเกิดขึ้นในประเทศ กษัตริย์ต่างชาติอย่างเอดิปุสจนปัญญาจะหาทางแก้ไข อ้างว่าการตายของกษัตริย์องค์ก่อนไม่ใช่ธุระกงการของเขาที่เป็นคนต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้ว เจ้าตัวสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากไลอัส กษัตริย์องค์ก่อนซึ่งเป็นพ่อแท้ ๆ ของเอดิปุสนั่นเอง

การเล่นกับความเป็นคนนอกคนในของเอดิปุสเชื่อมโยงกับฮวนอย่างมีนัยสำคัญ เอดิปุสที่แท้จริงแล้วเป็นคนในกลับถูกปฏิบัติราวกับเป็นคนนอก ความเป็นคนนอกส่งผลให้กษัตริย์หนุ่มลงมือก่อวีรกรรมสุดอุจาดโดยไม่รู้ตัว กรณีของฮวนก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ความเป็นคนนอกของฮวนทำให้เขาไม่ถูกปฏิบัติด้วยเยี่ยงมนุษย์ ร่างกายและจิตใจของยักษาเยี่ยงฮวนถูกล่วงละเมิดโรมรันเพียงเพราะอยากจะชิมน้ำฝนจากสายใยของความเป็นครอบครัว แม้กระทั่งในสายตาของมารดาบังเกิดเกล้า ฮวนยังไม่ถูกมองว่าเป็น “ฮวน” หรือเป็นมนุษย์มีเลือดมีเนื้อคนหนึ่ง เขากลายเป็นวัตถุสนองความต้องการทางเพศ มีหน้าที่แค่เพียงชดเชยชีวิตที่ล้มเหลวของตัวละครอื่นในเรื่อง ชวนให้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว ใครกันแน่ที่เป็นยักษาผุดขึ้นมาจากหลุมนรก
กระนั้นแล้ว แม้นเรื่องราวชีวิตของฮวนจะชวนเศร้าระทมทุกข์มากเพียงใด หลังพายุฝนโหมกระหน่ำ แสงอาทิตย์สว่างจ้าประดับท้องฟ้าโปร่งแจ่มใสย่อมรอเราอยู่เสมอ ความรักชวนหมิ่นเหม่ศีลธรรมระหว่างฮวนกับโคคิและฮวนกับทะดะโยชิกลับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ฟ้าหลังฝนที่สวยงามที่สุดของนิยายเรื่องนี้
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียอรรถรสในการอ่าน ผู้เขียนคงพูดได้แค่ว่า ความสัมพันธ์ทั้งสองรูปแบบนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างฉาบฉวยและขวานผ่าซากแต่อย่างใด ฮวนกับโคคิเชื่อมโยงกันได้เพราะความเป็นคนนอกอันไม่ตรงทำนองคลองธรรมของสังคมญี่ปุ่น ทว่าทั้งสองกลับเข้าใจและยอมรับว่าอีกคนเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับตนเองผ่านการนำเสนอว่าตำนานยักษาดื่มน้ำฝนอันน่าหวาดหวั่นนั้น แท้จริงแล้วยักษาเป็นคนรักในชาติปางก่อนของเทพยดา ที่ปีนขึ้นมาจากรอยแยกแผ่นดินก็เพื่อมาพบอดีตคนรักของตัวเองนั่นเอง ส่วนฮวนกับทะดะโยชิเป็นความสัมพันธ์อันไม่เข้ารูปเข้ารอยเพราะบาดแผลเหวอะหวะในอดีตมากกว่า เมื่อบาดแผลตรงนี้ได้รับการรักษาจนสมานหายดี ทั้งฮวนและทะดะโยชิต่างก็ได้เรียนรู้ว่าต่างฝ่ายต่างห่วงหาอาทรณ์กันและกันมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าบทสรุปแบบนี้ตั้งคำถามถึงจารีตอันดีงามของสังคมอยู่มิใช่น้อย ในเมื่อความสัมพันธ์ที่ถูกต้องตรงทำนบศีลธรรมรั้งแต่จะทำร้ายตัวละครในเรื่องจนต้องดิ้นขลุกทุรนทุรายตายมิตายแหล่ ทั้งสายสัมพันธ์แม่ลูกอันบิดเบี้ยว พ่อลูกแสนห่างเหิน และพี่น้องเคล้าความเกลียดชัง เราในฐานะผู้อ่านบนหอคอยงาช้างมีสิทธิมากแค่ไหนที่จะไปตัดสินพวกเขาหรือ คงจะเป็นดั่งที่บทบรรยายข้างล่างกล่าวไว้ บางครั้งมนุษย์เราก็ต้องยอมให้กายเผาไหม้ด้วยความชั่วช้าเพื่อไขว่คว้าและแบ่งปันความอบอุ่นให้ผู้อื่น
“แม้นกุศลบุญจะนำหนุนให้กายและใจอยู่เย็นเป็นสุข ส่วนอกุศลมูลนั้นเล่าเผาผลาญร่างกายจนทรมานเจียนมอดไหม้ พระเป็นเจ้าองค์ใดก็มิอาจรู้แจ้งถึงจิตใจมนุษย์ ว่าเหตุใดหนอ ปุถุชนจึงมิอาจละความรุ่มร้อน ละรากเหง้าแห่งความชั่ว เลือกรับแต่ความร่มเย็น
เย็นกายเย็นใจมากเกินไปรังแต่จะหนาวเหน็บ มิสู้ป่วนปั่นเปลวเพลิงให้ลุกโหม ทั้งตนเองและผู้อื่นจะได้อบอุ่นขึ้น นั่นแลคือคำตอบ” (น. 191)
ชื่อเรื่องของนิยายว่า Before It Starts to Rain ก็สอดรับไปได้ดีกับบทสรุปในตอนจบ เพราะท้องฟ้ามักจะมืดครึ้มที่สุดก่อนฝนพรำเสมอ เปรียบได้กับการเดินทางเพื่อค้นหาความสุขของตัวละครในเรื่อง ต่างคนต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่มืดครึ้มที่สุดในชีวิตของตัวเอง เมื่อฝนหยุดตก เมฆดำจางหาย รุ้งประดับประดาล้อกับแสงสว่างสาดส่อง ความทุกข์ก็จะถูกชะล้างไปกับน้ำฝน ยักษาอสุรีได้พบปะกับอดีตคนรักของมันอีกครั้ง
มิหนำซ้ำ บทสรุปเช่นนี้ยังสอดคล้องกับเซ็ตติ้งสภาพบ้านเมืองหลังสงครามจบลง แม้นสงครามจะทิ้งรอยแผลบาดลึกไว้มากเพียงใด แต่เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป พร้อมคิดวิธียับยั้งมิให้ความเป็นพวกเขาพวกเรากับอุดมการณ์คลั่งชาติย้อนคืนมาทำร้ายตัวเราเองอีก ดังจะเห็นได้จากฉากที่ฮวนชวนทะดะโยชิย้ายไปอยู่โยโกฮามะด้วยกันตอนท้ายเรื่องแทนที่จะกลับสเปน เพราะท่าเรือโยโกฮามะเป็นสัญลักษณ์แทนการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขระหว่างคนญี่ปุ่นกับคนต่างชาติ การกระทำของฮวนจึงเป็นการทำลายกรอบที่แบ่งแยกความเป็นคนนอกคนใน ลบล้างความเป็นอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับความเป็นปัจเจกชนของตัวเองและทะดะโยชิ

แม้นจะอ่านซ้ำ ๆ อีกกี่รอบ Before It Starts to Rain ของ Orca ก็ยังคงเป็นนวนิยายขึ้นหิ้งสำหรับผู้เขียนเสมอ ทั้งภาษาบรรยายเรียบง่ายแต่ติดตรึง ทั้งเนื้อหาเคล้าน้ำตาทว่าปลอบประโลมใจ ทั้งการไม่เดินตามครรลอง “วรรณกรรมที่ดี” ดั่งที่ถกเถียงกันทั่วไปบนโลกออนไลน์ นิยายเรื่องนี้มีแนวทางและสิ่งที่ต้องการเล่าแจ่มชัดเป็นของตัวเองแม้นจะไม่ผ่านการดูแลจากสำนักพิมพ์โดยตรง นามปากกา Orca ยังมีนวนิยายน่าสนใจเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น นกน้ำตาลปั้นของนกกระเรียนกับหมาจิ้งจอก นิยายแนวแฟนตาซีสืบสวนสอบสวนยุคเอโดะอันมีคู่หูนักสืบเคมีแสนกลมกล่อมเป็นตัวดำเนินเรื่อง Stillwater, Life in An Alpha Men’s Prison นิยายดราม่าแนวคนคุกสุดเข้มข้น และ The Kiss of the Lamb นิยายประเภท “retelling” ที่ชวนมองความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับยูดาสในมุมมองใหม่
นวนิยายทั้งหมดของ Orca ที่กล่าวถึงมาชวนให้ผู้เขียนอดรู้สึกเศร้าซึมมิใช่น้อย แท้จริงแล้ว วงการวรรณกรรมไทยนั้นมีนักเขียนมากความสามารถและผลงานน้ำดีพล็อตแปลกใหม่อีกมากมาย เพียงแต่พวกเขาไม่มีต้นทุนหรือไม่ได้รับโอกาสมากพอที่แสงจะส่องถึง ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องแก้ไขกันต่อไป คงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายหากวงการหนังสือบ้านเรายังคงหมกมุ่นอยู่กับรางวัลและเกียรติยศกลวงโบ๋แห่งชาติต่อไปเรื่อย ๆ ผู้เขียนขอทิ้งท้ายบทความนี้ด้วยโคลงสี่สุภาพจาก Before It Starts to Rain ที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ
ครั้นค่ำคืนเคลื่อนคล้อย อัมพร สว่างแน
มาสครั่นทิวากร หลีกหลู้
รังสีแสบแผดร้อน ยักษ์แอบ ลงเอย
เพลิงแดดผ่าวฤๅสู้ เล่ห์ล้ำลำนำทอง
ครู่ยามโมงย่างข้าม แลดวง ไฟรอน
สูรหลบล้าโรยร่วง ขยับย้าย
บุหลันแล่นครองห้วง เวหาส อีกครา
วันวกเวียนวนหว้าย ตราบฟ้าภิณท์พัง
บรรณานุกรม
- Orca. Before It Starts to Rain. Self-Published, 2018.
- Sophocles. Oedipus the King. Minneapolis, University Of Minnesota Press, 1998.