Table of Contents
เป็นเรื่องไม่คาดฝันเหมือนกันที่จู่ๆ จะได้ไปชม Izzard Hamlet London บทละครเรื่องแฮมเล็ตของวิลเลียม เชคสเปียร์ แสดงโดยเอ็ดดี้ อีซาร์ด นักแสดงตลก นักแสดง และนักกิจกรรมทางการเมือง มากความสามารถที่ประสบความสำเร็จจากการเล่นคนเดียวเมื่อปีที่แล้วเรื่อง Charles Dickens’ Great Expectations (2022-2023)
01
of 02
จุดเริ่มต้นของ Eddie Izzard — Hamlet
เอ็ดดี้อยากเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ หลังจากดู Christopher Fry จากเรื่อง The Boy with a Cart เธอยอมรับว่าตัวเองเริ่มต้นการแสดงช้ากว่าคนอื่น แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปี ก่อน การเรียนวรรณคดีอังกฤษทำให้รู้จักกับวิลเลียม เชคสเปียร์ และการได้มาแสดงเรื่องแฮมเล็ตตามแนวทางที่แตกต่างออกไปไม่ใช่เรื่องปกติ เธอเข้าเรียนในโรงเรียนการละคร ได้แสดงละครจากบทดั้งเดิมที่เป็นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ต่างเส้นทางการแสดงไม่ต่างจากนักแสดงในอดีต ส่วนเธอเริ่มจากการเป็นนักแสดงข้างถนน ไปสู่โรงละครเล็กๆ ก่อนจะก้าวสู่โรงละครจริงๆ
ละครเรื่องนี้เริ่มต้นที่ นิวยอร์ก ตั้งแต่เดือนเมษายน ไปต่อที่ชิคาโก้ และไปจบที่ลอนดอน ซึ่งจะแสดงไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2024 นับเป็นการแสดงที่ยาว ผ่านหลายเมืองใหญ่สองทวีป ในบางวันเอ็ดดี้ต้องแสดงถึงสองรอบ คือรอบบ่ายกับรอบค่ำ พลังเหล่านี้อาจจะมาจากพื้นฐานที่เธอเคยวิ่งมาราธอน และเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน
สำหรับการแสดงครั้งนี้ดึงดูดใจผู้เขียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโปสเตอร์พื้นดำ ตัวอักษรเฮลเวติกาคอนเดนซ์สีขาว ภาพเอ็ดดี้สวมสูทกระโปรงสั้นถุงน่องตาข่ายชี้นิ้วมือขวาเข้าหาตัว โดยแสดงเป็น 23 ตัวละครจากเรื่องแฮมเล็ตมันดูทรงพลังไม่น้อย
เท่านั้นยังไม่พอ โปรยหัวโฆษณา “กษัตริย์แห่งเดนมาร์กสิ้นพระชนม์แล้ว องค์ชายแฮมเล็ตต้องการแก้แค้น ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่จะทำลายทั้งครอบครัวและรัฐ เอ็ดดี้สวมบทบาทเป็น ผู้ชาย ผู้หญิง ผี นักวิชาการ เผด็จการ ข้าราชบริพาร คู่รัก คนโง่ และกวี เธอกล่าวว่า: “ฉันหลงใหลในการแสดงเป็นตัวละครที่ซับซ้อนและท้าทายอยู่เสมอ แฮมเล็ตคือที่สุด นี่คือผลงานสำหรับทุกคน เป็นละครเหนือกาลเวลาที่ก่อกำเนิดวีรบุรุษก่อนเหตุการณ์” เพียงเท่านี้เผู้เขียนก็อยากดูแฮมเล็ตที่เธอแสดงจะออกมาเป็นอย่างไร ความยั่วยวนนี้ทำให้ผู้เขียนจองตั๋วไปชมที่ RiversideStudiosLondon อย่างไม่ลังเล
โชคดีที่ผู้เขียนเดินทางไปลอนดอนในช่วงดังกล่าว ที่ตั้งของ Riverside Studios London เดินทางไม่ยาก โดยนั่งรถไฟใต้ดินสาย Circle Line หรือ City Line ไปลงสถานี Hammersmith จากนั้นใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาทีก็ถึงโรงละครที่มีบรรยากาศงดงามติดริมแม่น้ำเทมส์ แถมด้วยฉากสะพาน Hammertsmith ที่สวยคลาสสิก (ขณะที่ไปกำลังซ่อมแซม)
ผู้เขียนเลือกชมในวันเสาร์ซึ่งมีสองรอบ ผู้เขียนเลือกชมในรอบแรกบ่ายสามโมง การแสดงใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงเศษ มีการพักครึ่งการแสดงสิบห้านาที ส่วนอีกรอบเป็นเวลาหนึ่งทุ่ม (การแสดงส่วนใหญ่ในอังกฤษมักเริ่มต้นเวลานี้ทั้งหมด) หากไปถึงโรงละครก่อนกำหนดการแสดงก็จะดีไม่น้อยเพราะมีคาเฟ่จำหน่ายอาหารเครื่องดื่มก่อนเข้าโรงละคร และที่ดีมากคือทางโรงละครอนุญาตให้นำเครื่องดื่มที่ขายเข้าไปนั่งดื่มได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เบียร์ หรือไวน์ ซึ่งช่วยให้การชมยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น
รอบที่ผู้เขียนชมมีจำนวนผู้ชมจำนวนมาก หากมองด้วยตาเปล่าก็เกือบจะเต็มโรงละคร โรงละครของ RiversideStudiosLondon สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ของโรงละครได้ การแสดงนี้ใช้สอง Studio เปิดเป็นสตูดิโอเดียว (Studio 1-2) และสร้างนั่งร้านขึ้นมาเป็นแถวที่นั่งในแบบลดหลั่นกันเป็นขั้นบันไดสำหรับที่นั่งด้านหลัง ผู้เขียนจองได้ตั๋วเกือบจะหลังสุด (ราคา 40 ปอนด์) ถ้าหันหน้าออกมาจากเวทีจะอยู่ด้านซ้าย แต่โรงละครไม่ใหญ่มาก จึงมองเห็นการแสดงได้ชัดเจน
เวทีออกแบบคล้ายกล่องสีขาวแบบเรียบเปิดโล่ง ด้านในสุดฝั่งซ้ายยกพื้นขึ้นมา แต่ไม่เต็มเวทีด้านยาว ด้านข้างและด้านหลังมีหน้าต่างทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ไม่มีทางเข้าออกเพื่อขึ้นเวที นักแสดงต้องเดินเข้ามาทางประตูเดียวกับผู้ชม และมาขึ้นเวทีตรงบันไดด้านหน้า การออกแบบเรียบง่ายมาก แต่ยังทำให้เห็นว่าสามารถเล่นบทต่างๆ ผ่านฉากของละครได้ดี
ไฟในโรงละครดับลง เสียงผู้ชมเงียบสนิท ไฟในโรงเปิดขึ้นอีกครั้ง เอ็ดดี้ยืนอยู่บนเวทีแล้วก็เริ่มแสดง แฮมเล็ตฉากแรกเหตุการณ์บนเชิงเทินปืนใหญ่ ทหารยามพบกับผีกษัตริย์องค์ก่อน ตลอดทั้งเรื่องได้มีการนำเทคนิคแสงไฟสตูดิโอมาช่วยสร้างบรรยากาศ ฉากขุนนางในท้องพระโรงพระราชวังเอลสินอร์ ดำเนินเรื่องโดยเอ็ดดี้เพียงคนเดียว ไม่ว่าจะเป็น แฮมเล็ต โฮเรโช คลอเดียส เกอร์ทรูด โพโลเนียส เลแอร์ทีส โอฟีเลีย ฯลฯ
ความมหัศจรรย์ที่นักแสดงคนเดียวสามารถเอาชนะฝ่าฟันที่แสดงละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของเชคสเปียร์ ละครเรื่องแฮมเล็ตถ้าแสดงเต็มรูปแบบ อาจจะใช้เวลามากถึงสี่ชั่วโมง บทที่เอ็ดดี้ได้รับการดัดแปลงให้สั้นลง แต่ยังคงเล่าเรื่องทั้งหมดให้เข้าใจโดยไม่คกหล่นรายละเอียดสำคัญ ขณะเดียวกันภาษาที่ใช้ในเรื่องดัดแปลงให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงสละสลวยไม่ทิ้งของเดิม
เอ็ดดี้มีวิธีสื่อสารพูดคุยกับผู้ชม ประสบการณ์นี้มาจากช่วงที่เธอแสดงเดี่ยวตามท้องถนน เช่นเดียวกัน ละครในยุคเชคสเปียร์ส่วนใหญ่แสดงกันในเวลากลางวัน เวลาคนดูลุกเดินออกจากโรงนักแสดงจะมองเห็น ดังนั้นนักแสดงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาชนะใจคนดูให้ได้ แฮมเล็ตเรื่องนี้ก็เช่นกัน มันเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายร่วมกันระหว่างนักแสดงและคนดู เอ็ดดี้ต้องรับทุกบททุกฉากทุกตัวละคร การกำหนดลักษณะผ่านภาษาจึงมีความสำคัญที่จะแยกแยะตัวละครต่างๆ ออกจากผู้แสดงเพียงคนเดียว เพราะฉะนั้น “Words Words Words” จึงเป็นคีย์สำคัญที่องค์ชายแฮมเล็ตตอบโพโลเนียส
หากจะถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องมีพื้นฐานการอ่านหรือการดูละครเรื่อง “แฮมเล็ต” มาก่อนชมหรือไม่ อาจจะ “ใช่” แต่ก็ “ไม่” เอ็ดดี้นำเสนอแฮมเล็ตโดยไม่ได้ดัดแปลงให้เป็นบทสมัยใหม่อย่างในหนังเรื่อง Hamlet ปี ค.ศ. 2000 นำแสดงโดยอีธาน ฮอร์ก แต่ดำเนินเรื่องตามแนวทางดั้งเดิม เพียงแต่เปลี่ยนภาษาให้ทันสมัยขึ้น ตัดบางฉากที่เยิ่นเย้อออก ยังคงฉากสำคัญเอาไว้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ แน่นอนถ้าผู้ชมมีพื้นฐานมาก่อนก็อาจจะสามารถชมการตีความใหม่เพื่อเปรียบเทียบ ส่วนผู้ที่ไม่เคยชมมาก่อนก็จะได้รสชาติแบบที่เอ็ดดี้สร้างบทขึ้นมาใหม่
ฉากที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือบทของโอฟีเลียตอนที่เธอเสียสติ เอ็ดดี้แสดงได้ดีมาก เธอแสดงโอฟีเลียเป็นเด็กสาวไร้เดียงสาผ่านการร้องเพลง โอฟีเลียเสียพ่อ คนที่สังหารพ่อของเธอคือคนรัก เธอโดดเดี่ยวขาดคนปลอบประโลม สุดท้ายก็ขาดสติ เอ็ดดี้แสดงออกได้อย่างขมขื่น เล่นดีเหลือเกินสำหรับตัวละครโอฟีเลีย
จนกระทั่งฉากสุดท้ายมาถึงในท้องพระโรง ฉากดวลดาบระหว่างแฮมเล็ตกับเลแอร์ทีส จุดจบนองด้วยเลือด และทุกคนตายกันหมด แต่นั่นทำให้ฟอร์ทินบราสได้ขึ้นมาปกครองเดนมาร์กแทนที่ทรราชย์อย่างคลอเดียส องค์ชายแฮมเล็ตไม่ใช่องค์ชายทั่วไปที่เที่ยวเล่นสนุกไปวันๆ แต่แฮมเล็ตสะท้อนถึงความโศกเศร้า การหมกมุ่นกับตัวเอง ซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์กับคนรุ่นต่อๆ มา นั่นทำให้แฮมเล็ตเป็นบทละครที่ได้รับการตีความใหม่มาโดยตลอด
เซอร์ ปีเตอร์ ฮอลล์ ผู้กำกับซึ่งเคยสร้างผลงานเรื่องแฮมเล็ตให้กับ Royal Shakespeare Company ในปี ค.ศ. 1965 นำแสดงโดยเดวิด วอร์เนอร์ วัย 24 ปี บันทึกเอาไว้ว่า “แฮมเล็ตเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ในแต่ละศตวรรษ นับจากศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงทศวรรษนี้ แฮมเล็ตเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนถึงยุคสมัยแห่งการใคร่ครวญ”
เช่นเดียวกันการแสดงของ เอ็ดดี้ ในเรื่อง Hamlet เป็นการตีความและสำรวจตรวจตราอีกครั้ง มันยังคงเป็นกระจกเงาสะท้อนยุคสมัย เป็นการใคร่ครวญถึงปัญหาของสังคมที่ยังคงอยู่ นั่นคือการคอรัปชั่นที่ไม่อาจหมดไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ และทำให้เราต้องประสบกับการต่อสู้ เนื่องจากผลของมันได้เปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม มีผลกับเราทุกคน แน่นอนเราอาจจะไม่ใช่องค์ชายแฮมเล็ตที่จะนำปัญหานั้นเข้าสู่สมรภูมิ และตัดจบลงด้วยการสังหารปัญหา แต่นั่นก็ทำให้เกิดผลกระทบมากมายต่อมาแม้ศึกนั้นสงบลง แต่ก็สงบลงเพียงชั่วคราว
02
of 02
บทส่งท้าย
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเชคสเปียร์เขียนเรื่องแฮมเล็ตขึ้นเมื่อใด หรือจริงๆ เขียนขึ้นครั้งแรกตอนไหน ต้นฉบับของเขาไม่เหลือรอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราไม่รู้ว่าเชคสเปียร์มีการแก้ไขใดๆ ไหมในการเขียนเรื่องแฮมเล็ต สิ่งที่มีอยู่คือบทละครที่ตีพิมพ์สามเวอร์ชันซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อ First Quarto, Second Quarto และ First Folio (คำว่า Quarto และ Folio หมายถึงขนาดของหน้าที่พิมพ์ ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เรามักคุ้นเคยกับคำว่า “หน้ายก” เช่นกระดาษขนาดใหญ่พับได้ 16 หน้า จะเรียกว่า 16 หน้ายก) บทละครที่พิมพ์อยู่ในภายหลังนี้ข้อความทั้งหมดมาจาก Second Quarto และ First Folio
เชคสเปียร์มุ่งมั่นเขียนบทละครให้คณะละครกลุ่มหนึ่งแสดงในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกับ เอ็ดดี้ อีซาร์ด ซึ่งมีผลงานละครที่เธอแสดงเดี่ยวให้เราชม ซึ่งในอาคตน่าจะมีมากขึ้นตามลำดับ เชคสเปียร์เขียนบทละครเพื่อการแสดง ไม่ใช่การอ่าน จนกระทั่งเมื่อมีการผลิต First Folio ออกมาในปี ค.ศ. 1623 เพื่อนและนักเขียนบทละครคู่แข่งของเขา Ben Jonson ได้ตั้งข้อสังเกตบทละครของเชคสเปียร์ในคำนำเฟิร์สโฟลิโอว่า “not of an age, but for all time”
[wdgk_donation]