เพศกำหนดนั้นมีผลต่อการที่เราจะรู้อะไรอย่างสลักสำคัญ การจะพูดว่า เพศ ชายฉลาดกว่าเพศหญิง หรือเพศหญิงฉลาดกว่าเพศชายนั้น เราจำเป็นต้องกลับไปดูช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ โดยทั่วไป สังคมเชื่อว่าเพศหญิงนั้นมีความรู้น้อยกว่าผู้ชาย ภาพจำนี้เกิดขึ้นได้ เพราะความรู้เกิดจากการจัดระบบระเบียบของสังคมซึ่งผู้ชายเคยสร้างไว้ การจะทราบว่าเพศไหนฉลาดกว่าเพศไหนอาจจะไม่ใช่ประเด็น เพราะสังคมนั้นพัฒนามาจนถึงปัจจุบันก็เพราะเสียงของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่เราควรทำคือการประเมินมาตรฐานของความรู้ในปัจจุบันใหม่หรือไม่ เนื่องจากมันสามารถทำให้ความรู้ในแต่ละเพศมีความสำคัญเท่ากันหมด
ความรู้เป็นสิ่งที่เกิดจากความพยายามของมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ ความรู้ได้รับการต่อยอดมาโดยตลอด โดยที่สังคมมักเชื่อว่าองค์ความรู้ที่สำคัญนั้นเกิดขึ้นได้จากความสามารถของคนเพียงคนเดียว เช่น การที่พีทาโกรัสสามารถสร้างทฤษฎีบทของตัวเองได้ หรือการที่นิวตันกับไอสไตน์มีอิทธิพลในวิชาฟิสิกส์ได้
เมื่อนึกทบทวนเรื่องดังกล่าวดู หลายคนจึงอาจสงสัยว่ามันมีเคล็ดลับอะไรหรือเปล่า บางคนก็อาจจะวิเคราะห์ไปถึงเรื่องเพศ เพราะว่าโดยส่วนใหญ่ บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ล้วนเป็นเพศชายทั้งนั้น ถ้าตริตรองส่วนเพศ เสียงส่วนใหญ่น่าจะยืนยันเสียงแข็งแน่ว่ามันมีอิทธิพลต่อการที่คนหนึ่งจะรู้อะไร ยิ่งในยุคร่วมสมัยนี้มีการปะทะคารมระหว่างกลุ่มหลายกลุ่มอยู่ด้วยกัน เช่น กลุ่มชายแท้ปิตาธิปไตยคงจะพูดว่าพวกสตรีนิยมมันไม่รู้ประสีประสา ส่วนกลุ่มสตรีนิยมก็คงจะพูดคล้ายๆ กัน ว่าพวกชายแท้ปิตาธิปไตยมันก็เป็นแค่พวกมนุษย์ถ้ำเท่านั้น
เอ๊ะ ตกลงใครกันแน่เนี่ยที่ฉลาดกว่า ระหว่างผู้ชายหรือผู้หญิง? ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกคนทบทวนดูช่วงเวลาเก่าๆ ของมนุษย์ก่อน ในทัศนะของคนสมัยก่อน ความรู้จำเป็นจะต้องมีลักษณะที่มาจากการใช้เหตุผล เพราะพวกเขาเชื่อความจริงในโลกเช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ นั้นมีลักษณะที่มนุษย์ทุกคนควรจะเข้าถึงได้ ตรงนี้เองที่มนุษย์เริ่มมีความคิดว่าผู้หญิงจะต้องด้อยกว่าผู้ชาย เพราะพวกเขาเชื่อว่าความรู้ของผู้ชายมาจากการใช้เหตุผล ส่วนความรู้ของผู้หญิงมาจากการใช้อารมณ์ เหตุผลมันมีลักษณะที่เป็นกลางกว่าอารมณ์ จากที่กล่าวมาข้างต้น มนุษย์คนหนึ่งก็น่าจะรู้ความจริงได้ดีขึ้นหากใช้เหตุผล เพราะเหตุผลเป็นสิ่งที่ไร้อคติในตัวมันเอง
ดูเหมือนการวัดว่าใครฉลาดกว่าใคร สังคมมนุษย์มักจะสนใจว่าความรู้ของคนหนึ่งมาจากอารมณ์หรือเหตุผลมากกว่ากัน ถ้ายึดตามข้อสันนิษฐานข้างต้น ไม่แปลกใจที่คนจะเชื่อว่าความรู้ของผู้หญิงนั้นมีลักษณะที่ด้อยกว่าความรู้ของผู้ชาย ฮุมบ็อลท์ (Wilhelm von Humboldt) ก็เคยบอกว่าผู้หญิงขาดความสามารถในการวิเคราะห์ จึงเข้าใจความจริงได้ไม่ดีเท่าผู้ชาย ในทางเดียวกัน อริสโตเติล (Aristotle) ก็เคยกล่าวไว้ว่าถึงผู้หญิงจะใช้เหตุผลได้ แต่ก็คงใช้ได้ไม่ดีเท่าผู้ชายอยู่ดี อย่างไรก็ดี มันก็ฟังดูไม่สมเหตุสมผลเลย หลายคนก็เห็นว่าผู้หญิงนั้นสามารถก้าวข้ามผู้ชายได้ ในยุคนี้ ผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำประเทศ วิศวะ หรือนักวิชาการที่คิดค้นทฤษฎีเปลี่ยนโลกได้ทั้งนั้น กล่าวคือ ความรู้ที่พวกนางมีนั้นช่วยให้นางไปถึงจุดหมายนั้นได้
คำพูดที่ว่าความรู้ต้องมาจากการใช้เหตุผลเท่านั้นจึงไม่เที่ยง กลับกันมันทำให้เห็นปัญหาของความเชื่อที่ว่าความรู้ต้องมาจากเหตุผลอย่างเดียว เพราะว่าความรู้มันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเท่านั้น แต่มีขึ้นได้จากทั้งเหตุผลและอารมณ์ ค้านท์ (Immanuel Kant) เคยอธิบายว่าความรู้ความเข้าใจของเราไม่จำเป็นต้องเกิดจากการใช้เหตุผลของเราเพียงลำพัง ความรู้นั้นสามารถเกิดจากการรวมกันระหว่างเหตุผล อารมณ์ ประสบการณ์ และสถานภาพของตัวเราในโลกที่ต่างจากคนอื่นก็ได้
คำตอบข้างต้นค่อนข้างเปิดทางให้เราทราบว่าจะทั้งชายหรือหญิงต่างก็สร้างความรู้ในวิธีการแบบเดียวกันได้ ดังนั้น ถ้าถามว่าใครฉลาดกว่าใคร จึงขอเกริ่นไว้ว่ามันขึ้นอยู่กับจำนวนข้อจำกัดที่แต่ละคนจะประสบในชีวิตมากกว่า
อย่างไรก็ตาม คำพูดที่ว่าผู้ชายฉลาดกว่าผู้หญิงก็ถูกประคองมาได้หลายช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ หลายคนอาจถาม “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?” ต่อจากนี้ จึงขอยกกลวิธีของสังคมที่ยื้อยุดชุดความเชื่อดังกล่าวไม่ให้หายไปออกมาให้เห็น
เมื่อสังคมมนุษย์เริ่มมีขนาดใหญ่ จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดการจัดระบบระเบียบ เนื่องจากร่างกายผู้ชายกับร่างกายผู้หญิงนั้นมีความแตกต่างกัน สังคมจึงจัดแจงให้ทั้งสองมีงานที่ต่างกัน ในจุดนี้เองที่ทั้งสองจะต้องเจอกับสิ่งที่เรียกว่าความคาดหวังจากสังคม ความคาดหวังนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองเพศมีความรู้ความสามารถที่ต่างกัน จึงขอพูดนำเลยว่าเรื่องเพศนั้นมีผลต่อความรู้ของเราแน่นอน โดยทั่วไป เราคงหนีไม่พ้นภาพจำที่ผู้ชายต้องเป็นช่างยนต์ ส่วนผู้หญิงต้องไปเย็บผ้า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะความเชื่อเดิมที่ผู้ชายนั้นน่าจะสันทัดเรื่องงานฝีมือที่ต้องใช้ตรรกะมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ดี เมื่อตริตรองดูแล้ว เราน่าจะคาดเดากันได้ว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะผู้ชายก็สามารถทำงานของผู้หญิงได้ดีกว่าผู้หญิง และผู้หญิงก็สามารถทำงานของผู้ชายได้ดีกว่าผู้ชายได้ทั้งนั้น ในสังคมปัจจุบัน เราพบว่าผู้หญิงทำงานเป็นหมอหรือเป็นวิศวะได้ดีกว่าผู้ชาย ในทางตรงข้าม เราก็พบว่าผู้ชายทำงานบ้านและทำอาหารได้ดีกว่าผู้หญิง ดังนั้น มันไม่ใช่ว่าเพศใดเพศหนึ่งจะฉลาดเรื่องหนึ่งกว่าอีกเพศ ภาพจำว่าองค์ความรู้นี้น่าจะเหมาะกับเพศหนึ่งนั้นมักเกิดจากการจัดแจงให้เพศนั้นเพศนี้ได้ทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นภาพติดตาว่าพวกเขานั้นมีความชำนาญกับเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว พวกเขามีความชำนาญเรื่องดังกล่าวได้ก็เพราะมีโอกาสฝึกฝนมากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง
เมื่อพูดถึงความรู้ บางคนก็อาจจะยกประเด็นเรื่องสมองขึ้นมา หลายคนคงอาจเคยได้ยินว่าสมองของผู้ชายและผู้หญิงนั้นทำงานแตกต่างกัน ในส่วนของผู้หญิง พวกเธอจะสันทัดเรื่องภาษาและการสื่อสารกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงนั้นจะใช้สมองสองซีกพร้อมกัน อีกทั้งในตอนเด็กก็จะมีพัฒนาการเรื่องสมองที่เร็วกว่าผู้ชาย พวกเธอจึงสามารถอ่านเขียนได้ก่อนอีกเพศ ในทางกลับกัน ผู้ชายจะใช้สมองพร้อมกันสองซีกได้ไม่ดีเท่าผู้หญิง กล่าวคือ โดยส่วนใหญ่ ผู้ชายจะใช้สมองซีกขวาซึ่งเป็นฝั่งที่ควบคุมการใช้เหตุผลอย่างเดียว ส่งผลให้สมองซีกซ้ายซึ่งจัดการเรื่องภาษาไม่ค่อยถูกใช้ จึงต้องประสบปัญหาเรื่องการสื่อสารในชีวิตประจำวันมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ดี เรื่องสมองก็หนีไม่พ้นคำตอบคล้ายเรื่องที่กล่าวมา เพราะมันมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าสมองของเราจะพัฒนาได้ดีขึ้นหากเราได้ฝึกฝนในกิจกรรมหนึ่งเป็นเวลานาน ดังนั้น การบอกว่าเพศหญิงมีความถนัดด้านการสื่อสารกว่าผู้ชาย และผู้หญิงจึงสมควรไปเรียนสายภาษาจึงไม่จริงแท้เสมอไป หากผู้ชายได้ฝึกฝนเรื่องภาษามากพอ สมองซีกที่ใช้ภาษาของผู้ชายก็พัฒนาได้เช่นกัน
จากข้อความข้างต้น เราคงไม่ต้องพูดถึงความรู้ทั่วไปว่า ผู้หญิงในประวัติศาสตร์นั้นมีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยกว่าผู้ชาย เมื่อผนวกกับข้อเท็จจริงที่ว่าสมองสามารถพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝน ก็คงไม่แปลกที่ผู้หญิงจะพลาดโอกาสในการได้รับความรู้หลายอย่างในชีวิต พอถึงจุดนี้ก็มีสิ่งให้เราพิจารณามากมายว่าเพศนั้นมีผลต่อการที่คนหนึ่งคนจะรู้อะไรมากจริงๆ จะด้วยจุดยืนในสังคมที่แตกต่างแบบกลุ่มปิตาธิปไตยที่ไม่เข้าใจกลุ่มสตรีนิยมอย่างถ่องแท้ หรือไปจนกระทั่งอารมณ์ความรู้สึกโดยพื้นฐานที่แตกต่างกันระหว่างสองเพศ เมื่อถึงเวลาที่โตไปสักพัก ความรู้สึกของผู้หญิงที่ได้คิดว่าตัวเองอาจจะต้องเป็นแม่คนในเวลาหนึ่ง เพราะว่าสังคมบีบคั้นนั้น คงไม่มีอยู่ในหัวของผู้ชาย และผู้ชายจึงไม่สามารถรู้ความรู้สึกดังกล่าวได้อย่างแท้จริง
บทความนี้ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนกลับมาทบทวนสถานะหนึ่งที่ติดตัวอยู่กับทุกคน กล่าวคือ เรื่องของเพศกำหนด เราเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่มีค่าในการใช้ชีวิตโดยตัวของมันเอง แล้วเราก็คิดว่าเพศเป็นบางสิ่งที่กำหนดให้เราต้องรู้หรือไม่รู้บางอย่าง หลายคนบอกว่าเพศนั้นเพศนี้มีความฉลาดกว่าอีกเพศในหลายเรื่อง จึงทำให้ตัวเองอยู่เหนืออีกเพศ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ทางสังคมหรือไม่ ความรู้ที่ดีต้องมาจากเหตุผลอย่างเดียวจริงหรือ ในสถานการณ์เดียวกัน เช่น การรู้ว่าตัวเองจำเป็นต้องเดินกลับบ้านคนเดียวในเส้นทางเปลี่ยวตอนดึก ความรู้ที่ผู้หญิงมีส่วนใหญ่คงนำไปสู่ความกลัวว่าจะมีคนออกมาทำร้ายหรือข่มขืน ในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่นั้นคงคิดแค่ว่าเดินๆ ไป เดี๋ยวก็ถึงบ้านเอง จากความแตกต่างดังกล่าวจะพบว่าความรู้ของแต่ละเพศดูเหมือนจะลักษณะต่างกัน แต่ที่สำคัญ ในกรณีนี้เราควรมองข้ามความรู้ติดตัวของผู้หญิงที่กล่าวมาหรือไม่ สุดท้ายนี้ ผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร เพศของตัวเองมีผลทำให้เรารู้บางสิ่งในแบบที่อีกเพศนั้นไม่มีทางรู้จริงหรือ และไม่ว่าจะความรู้เชิงเหตุผลหรือเชิงอารมณ์ก็มีคุณค่าในแบบของมันใช่หรือไม่ ในสมัยนี้ เราไม่จำเป็นต้องมองว่าความรู้ที่ดีต้องมาจากเหตุผลอย่างเดียวแบบสมัยก่อนแล้วหรือเปล่า
บรรณานุกรม:
เด็กผู้หญิงฉลาดกว่าเด็กผู้ชายจริงหรือ
Humboldt, W. von. (1963). Humanist without portfolio: An anthology of the writings of Wilhelm von Humboldt (M. Cowan, Trans. & Intro.). Wayne State University Press. p. 349.Taylor, G. R. (1971). A new view