แฮมเล็ต (Hamlet) เขียนโดย วิลเลียม เชคสเปียร์ แปลไทยโดย ศวา เวฬุวิวัฒนา ละครเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของแฮมเล็ต องค์ชายแห่งเดนมาร์ก พ่อของแฮมเล็ตเสียชีวิต และวิญญาณของพ่อก็ต้องการคุยกับเขา ภารกิจที่แฮมเล็ตได้จากวิญญาณพ่อ คือ การล้างแค้นให้พ่อ แฮมเล็ตต้องฆ่าคลอเดียส ผู้เป็นทั้งอาตัวเองและราชาคนใหม่ของเดนมาร์ก
หลายวันที่แล้ว เราได้มีโอกาสอ่านแฮมเล็ต (Hamlet) ละครโศกนาฐกรรมของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งเป็นกวีและนักเขียนที่หลายคนยกให้เป็นบุคคลสำคัญในแวดวงวรรณกรรมโลก แฮมเล็ตฉบับดั้งเดิมนั้นถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1623 ส่วนฉบับไทยในตอนนี้นั้นมีสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการแปลและตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มให้อ่าน โดยแฮมเล็ตฉบับไทยของเม่นวรรณกรรมนั้นถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2022 และผู้แปลแฮมเล็ตจากเทศเป็นไทยคือคุณศวา เวฬุวิวัฒนา
วันนี้เลยอยากจะขอรีวิวแฮมเล็ตในแบบฉบับคนเปิ่นๆ ที่เคยเรียนวรรณกรรมศึกษาในมหาลัยธรรมศาสตร์มานิดหน่อยดู ขอเกริ่นก่อนว่า ในธรรมศาสตร์จะมีวิชาที่เรียนเกี่ยวกับเชคสเปียร์และงานของเขาโดยตรง โดยที่คลาสนั้นจะมีชื่อว่า “เชคสเปียร์ (Shakespeare)” ซึ่งเป็นวิชาของเอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ แต่เฮ้ย ถึงจะพูดไปแบบที่ว่า แต่คนรีวิวคนนี้ไม่เคยอ่านแฮมเล็ตมาก่อนหรอกนะ ดังนั้น ประสบการณ์กับแฮมเล็ตของเราเลยจะออกมาแบบจริงแท้ ไม่มีกลลวงที่จะปกปิดความจริงใดๆ เหมือนราชาคลอเดียส เราขอ “สาบานแก่ [ปลายปากกา] ของ [ตัวเอง]” (1.5.81)
ยื่นปากกา ออกมา
เรื่อง แฮมเล็ต เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
กล่าวกันว่าแฮมเล็ตนั้นถือเป็นละครโศกนาฏกรรมแนวล้างแค้นเรื่องหนึ่งที่ดีที่สุดของโลก นอกจากนี้ก็ยังมีกลิ่นอายของการที่ต้องสืบหาความจริงในความเท็จนิดหน่อยคล้ายกับวรรณกรรมสืบสวน
เรื่องราวแฮมเล็ตเปิดมาด้วยฉากของคนในวังและทหารยามที่กำลังเฝ้าระวังภัยอันตรายนอกวังเดนมาร์กอยู่ พวกเขาได้พบวิญญาณไม่ทราบนาม รูปลักษณ์คล้ายราชาที่เพิ่งเสียไปเมื่อสองเดือนที่แล้ว ทหารกลุ่มนี้จึงหวังจะแจ้งเรื่องนี้ต่อแฮมเล็ตผู้เป็นลูกชายของราชาให้ได้ทราบ ต่อจากนั้นฉากจึงตัดเข้ามาในวังโดยมีราชาคลอเดียส ราชินีเกอร์ทรูด แฮมเล็ต และคนอื่นๆ
แฮมเล็ตในตอนนี้นั้นยังคงเศร้าโศกจากการตายของพ่อตัวเองอยู่ แม้ว่าทุกคนจะหายเศร้าไปแล้วก็ตาม เนื่องด้วยการตายของพ่อ แฮมเล็ตมีความสงสัยกับการแต่งงานใหม่ที่เร็วเกินไปของเกอร์ทรูดผู้เป็นแม่กับราชาคลอเดียสผู้เป็นน้องชายของพ่อตัวเอง แฮมเล็ตเชื่อว่ามันมีบางอย่างผิดปกติในเดนมาร์กแม้ตัวเองจะไม่รู้ความจริงแน่ชัด หลังจากทหารยามที่ไปเจอวิญญาณได้มาแจ้งแฮมเล็ต เขาก็ได้พบกับวิญญาณของพ่อตัวเอง วิญญาณนั้นได้ทิ้งปริศนาให้แฮมเล็ตว่า พ่อไม่ได้ตายจากการโดนงูกัดเหมือนที่ทุกคนเชื่อแต่ตายเพราะยาพิษของคนที่ใส่มงกุฎของพ่อตอนนี้ หรือก็คือราชาคนปัจจุบัน แฮมเล็ตที่ได้ฟังจึงมีเป้าหมายเดียว คือ การล้างแค้นให้พ่อ
หลังจากแฮมเล็ตรู้ความจริงจากวิญญาณของพ่อ เขาจึงแสร้งทำตัวเหมือนคนบ้าเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้จุดประสงค์ของเขา ในระหว่างนั้นก็คอยคิดว่าตัวเองควรจะทำอะไรต่อ การคิดนี่เองคือเสน่ห์ของเรื่องแฮมเล็ต แฮมเล็ตเป็นคนที่ขี้สงสัยและตั้งคำถามกับทุกอย่างที่ตัวเองเจอ ซึ่งจะดูได้จากการที่ตั้งคำถามกับการแต่งงานใหม่ของแม่ซึ่งนำไปสู่ความไม่เชื่อใจต่อคนในอำนาจ การตริตรองของแฮมเล็ตนี้ก็ยังรวมถึงการสงสัยวิญญาณของพ่อตัวเองด้วย เพราะสุดท้าย แฮมเล็ตไม่ได้เลือกที่จะฆ่าราชาคลอเดียสสุ่มสี่สุ่มห้าตามที่พ่อสั่ง แต่เลือกที่จะพิสูจน์เรื่องที่อาได้ฆ่าพ่อตัวเองไปจริงๆ ก่อน จึงจะฆ่าเขา อุบายที่แฮมเล็ตใช้พิสูจน์ความผิดของอาตัวเอง คือ การที่แฮมเล็ตมอบหมายคณะละครที่มาเล่นในวังให้แสดงละครที่ตัวละครหนึ่งต้องวางยาพิษฆ่าราชา เพื่อที่ตัวเองจะได้แอบอ่านสีหน้าและปฏิกิริยาของอาตัวเองที่ต้องดูฉากนั้น การสันนิษฐานของแฮมเล็ตนั้นถูกต้อง อาเป็นคนฆ่าพ่อจริงๆ เขาจึงพร้อมที่จะล้างแค้นโดยไม่มีความสงสัยเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งตัวเอง
ระหว่างหนทางการแก้แค้นของแฮมเล็ต เรื่องก็จะเล่าถึงความสัมพันธ์ของแฮมเล็ตกับโอฟีเลีย ซึ่งเป็นผู้หญิงที่แฮมเล็ตรัก อย่างไรก็ดี แฮมเล็ตจำเป็นต้องแกล้งบ้า เขาจึงทำตัวไม่ดีกับโอฟีเลียนัก ทำให้โพโลเนียสผู้เป็นทั้งพ่อของโอฟีเลียและมือขวาของราชาคลอเดียส คอยตอแยแฮมเล็ตตลอดเรื่อง
จุดพลิกผันของเรื่องคือตอนที่แฮมเล็ตฆ่าโพโลเนียส การฆ่าโพโลเนียสเป็นชนวนให้เรื่องดำเนินไปสู่จุดจบ เพราะหลังจากที่โพโลเนียสตาย โอฟีเลียผู้เป็นลูกสาวก็ฆ่าตัวตายตาม ส่งผลให้แลแอร์ทีสผู้เป็นทั้งลูกชายของโพโลเนียสและพี่ชายของโอฟีเลีย ต้องการที่จะล้างแค้นแฮมเล็ต ในการปะทะกันระหว่างแฮมเล็ตกับเลแอร์ทีสในฉากจบ เราจะพบคำตอบว่าทำไมเรื่องนี้จึงเป็นละครโศกนาฏกรรม
ความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน
หลายคนน่าจะรู้จักหรืออยากอ่านแฮมเล็ตกันเพราะชื่อเสียงของเชคสเปียร์ล้วนๆ ทำนองประมาณว่า อยากทราบฝีมือของเขา ซึ่งทั้งโลกยกให้มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมที่สุดนั้นจะมีหน้าตาแบบไหน อีกอย่างก็น่าจะเพราะไปเจอประโยค “To be, or not to be, that is the question” ในอินเทอร์เน็ตเลยอยากทราบเรื่องแฮมเล็ตแบบทั้งหมดจริงๆ ว่าทำไมคนถึงชอบยกประโยคนี้ขึ้นมาพูด (หรือไม่ก็เพราะจริงๆ จำเป็นต้องเรียนเชคสเปียร์ศึกษาเหมือนคนบางกลุ่ม) ส่วนตัว เราก็น่าจะอ่านแฮมเล็ตเพราะข้ออ้างที่ยกมาข้างต้นเหมือนกัน (อ่านเพราะต้องเรียน? เปล่า) คือ เราอ่านเพราะอยากรู้ว่าฝีมือเชคสเปียร์เป็นไง
ส่วนตัวจากที่ได้อ่านแฮมเล็ต เราค่อนข้างรู้สึกสนุกกับมัน ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้มีอคติกับเชคสเปียร์อะไรมาก เพราะเรามีประสบการณ์กับคนที่บอกว่างานเชคสเปียร์ไม่สนุก เพราะเรื่องมันมีโครงเหมือนละคนน้ำเน่าบ้านเรา อย่างไรก็ตาม บางทีสาเหตุที่เราบอกว่าสนุก อาจเป็นเพราะเราเป็นพวกชอบงานละครอยู่แล้วก็ได้ จึงขอทิ้งเรื่องทำนองความชอบส่วนตัวไปก่อน และขอยกเรื่องที่ทุกคนน่าจะพูดเป็นเสียงเดียวกันหลังจากได้อ่านงานเชคสเปียร์ คือ ภาษาที่เชคสเปียร์ใช้นั้นมันไพเราะและก็มีชั้นเชิง
ลีลาภาษาของเชคเปียร์ชอบทำให้เรารู้สึกว่า “เฮ้ย แบบนี้ก็ได้เหรอ?” และพร้อมที่จะขำไปกับมัน (ไม่รู้ว่าทุกคนขำไหม แต่นี่ชอบขำเวลาเจออะไรแบบนี้) เช่น ในองก์สอง ฉากแรก ตอนที่โอฟีเลียปรึกษาเรื่องที่แฮมเล็ตมาจีบตัวเองกับโพโลเนียสผู้เป็นพ่อ โอฟีเลียบรรยายว่าแฮมเล็ตเข้ามากอดตัวเอง แต่อยู่ๆ ก็ทำหน้าเศร้าๆ ส่ายหน้าสองสามที ไม่รุกโอฟีเลียต่อ แล้วก็หลับตาเดินจากไปราวกับว่าที่หลับตานั้น เพราะว่าแฮมเล็ตอยากจะเห็นโอฟีเลียเป็นสิ่งสุดท้ายตอนเดินออกไป คือ เฮ้ย แฮมเล็ตหลับตาเพราะกำลังคิดเรื่องเครียดๆ อยู่หรือเปล่า (อย่าลืม เขาต้องล้างแค้นให้พ่อตัวเอง) แต่แฮมเล็ตใช้ภาษาที่ทำให้เราเห็นคาแรคเตอร์โอฟีเลียได้ชัดเจนว่า นางเป็นคนเงียบๆ หวานๆ และมโนเรื่องรักออกมาได้ค่อนข้างฟุ้ง (ที่หลับตา เพราะอยากให้สิ่งสุดท้ายที่เห็นคือตัวเอง—เอิ่ม!)
นอกจากลีลาที่ยกมาก็จะเป็นพวกเรื่องภาษาที่มีความหมายกำกวม เช่น ในองก์สอง ฉากที่สอง ในตอนที่โพโลเนียสชักชวนแฮมเล็ตให้เข้าไปในห้องของวังเพื่อหลบอากาศ แฮมเล็ตที่แกล้งบ้าได้ตอบกลับว่า “ยังหลุมฝังของข้า?” (2.2.111) ตรงนี้โพโลเนียสก็มองว่าหลุมฝังศพก็หลบอากาศได้เหมือนกัน แต่ทำไมถึงตอบอะไรแบบนี้ ในสายตาของโพโลเนียส เขาเชื่อว่าแฮมเล็ตนั้นเป็นบ้าจริงๆ หากแต่แฮมเล็ตนั้นไม่ได้บ้าแต่แกล้งบ้า กล่าวคือ แฮมเล็ตตอบว่าวังคือหลุมฝังศพ เพราะว่าเขากำลังจะบอกว่า วังคืออำนาจของคลอเดียส คนที่ฆ่าพ่อตัวเองต่างหาก ดังนั้น ในตอนนั้น แฮมเล็ตก็แค่ไม่อยากเดินเข้าถ้ำเสือ
นอกจากภาษาก็จะเป็นความหมายในเรื่อง ส่วนตัวเราก็ชอบความหมายของแฮมเล็ตเหมือนกัน ความหมายที่ปรากฏในแฮมเล็ตตลอดเรื่องคือวลีประมาณ “สวยนอก เน่าใน” กล่าวคือเดนมาร์กที่ดูจะดีในสายตาตัวละครในเรื่อง แท้จริงแล้ว มีแต่เรื่องไร้ศีลธรรมเต็มไปหมด เช่น การที่คลอเดียสฆ่าพี่ชายตัวเองเพื่อชิงบัลลังก์ อีกทั้งยังจะหน้าด้านหน้าทนแต่งงานกับภรรยาของพี่ตัวเองต่ออีก จนขนาดแฮมเล็ตต้องตัดพ้อว่าเดนมาร์กก็เหมือน “สวนอันรกด้วยวัชพืช” (1.2.42) และเรื่องแบบนี้ “ปรากฏ [ได้ก็แค่] ในเดนมาร์ก” เท่านั้น (1.5.76)
แม้เนื้อแท้เดนมาร์กจะแย่แค่ไหน คนที่รู้เรื่องนี้ก็มีแค่เราซึ่งเป็นคนดูกับตัวแฮมเล็ตเอง เพราะเส้นแบ่งระหว่างคนที่รู้กับคนไม่รู้นี่แหละที่ทำให้เราเอาใจช่วยแฮมเล็ต แฮมเล็ตนั้นอยู่ในสถานะที่เป็นเหมือนคนแปลกหน้าในประเทศตัวเอง ต้องทำตัวเป็นคนบ้าเพราะไม่สามารถไว้ใจใครได้หลังจากที่เห็นความเน่าในของประเทศ จะให้แฮมเล็ตสารภาพออกมาตรงๆ ว่าราชาคลอเดียสคือภัยของประเทศเองก็คงไม่ได้ เพราะถ้าทำอย่างนั้น แฮมเล็ตก็น่าจะกลายเป็นกบฎเอง เพราะหลายคนในประเทศได้หน้ามืดตามัวมองว่าการขึ้นบัลลังก์ของคลอเดียสเป็นสิ่งถูกต้อง และคลอเดียสก็คือคนดี เป็นราชา และเป็นพ่อของประเทศไปแล้ว จึงจำเป็นต้องปกป้องและรับใช้
แม้แต่เพื่อนในวัยเด็กของแฮมเล็ต เขาก็ไว้ใจไม่ได้อีกต่อไป โรเซ็นแครนทส์กับกิลเด็นสเติร์นที่เคยเป็นสหายของแฮมเล็ตได้กลายเป็นลูกน้องที่สื่อสัตย์และไม่เคยตั้งคำถามกับคลอเดียสผู้เป็นนายตัวเอง จนแฮมเล็ตทนไม่ได้จึงต้องเรียกทั้งสองว่าเป็นพวก “ฟองน้ำ” (4.1.214) ไร้เดียงสาและขาดความฉลาด คอยเอาแต่ทำตามราชาไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ความจริงอะไรเลย ถ้ายังเป็นแบบนี้แล้วตัวเองหมดประโยชน์เมื่อไร ก็คงโดนราชาทิ้งเหมือนฟองน้ำที่ “เหือดแห้ง” (4.1.214) ดังนั้น แฮมเล็ตจึงเป็นเรื่องของคนที่รู้ความจริงแต่บอกใครไม่ได้ กล่าวคือ ในบางครั้ง ความรู้นั้นก็ทำให้คนบางคนกลายเป็นคนนอก ดังแฮมเล็ตที่ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมในเดนมาร์กตัวคนเดียว
เราคิดว่าเพียงแค่นี้ ทุกคนก็พอจะทราบคร่าวๆ แล้วว่าแฮมเล็ตคืออะไร ส่วนตัวเราคิดว่ายังมีอะไรให้พบในแฮมเล็ตอีกเยอะ แต่จะพบได้ พวกคุณต้องไปอ่านเอง ในตอนที่แฮมเล็ตแกล้งบ้า ตัวละครหลายตัวก็พยายามมองหาสาเหตุว่าทำไมแฮมเล็ตถึงบ้า คลอเดียสคาดว่าคงเพราะเสียใจเรื่องพ่อตาย โพโลเนียสตั้งข้อสังเกตว่าคงเพราะเสียใจเรื่องความรักกับโอฟีเลีย อย่างไรก็ตาม ทุกคนในเรื่องรวมถึงเพื่อนที่ใกล้ชิดของแฮมเล็ตก็ไม่มีใครรู้เลยว่าแฮมเล็ตกำลังคิดอะไรอยู่ ที่จะสื่อก็คือแต่ละคนตีความแฮมเล็ตและเรื่องราวของแฮมเล็ตไม่เหมือนกัน และตรงนี้แหละคือความพิเศษของงานเชคสเปียร์ นั่นคือความเปิดกว้างของความหมาย
ถ้าอยากรู้ว่าแฮมเล็ตเป็นยังไง อย่าไปพึ่งการตีความจากการอ่านของคนอื่น ตรงนี้อาจจะเป็นเหมือนที่อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ซึ่งเป็นอาจารย์และนักวิจารย์วรรณกรรมเคยบอกไว้ในหนังสือ อ่านไม่(เอา)เรื่อง ในการอ่านหลายครั้ง เรามักจะมีกรอบการอ่านเพียงไม่กี่แบบ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสังคมได้กำกับไว้ ส่งผลให้เราเข้าใจบางสิ่งแค่ผิวเผิน เช่น การอ่านนิยายเพื่อความบันเทิงเป็นหลักอย่างเดียว แต่การอ่านที่ดีจริงๆ น่าจะเป็นการอ่านที่พยายามไปให้พ้นจากกรอบความหมายเดียวและพยายามเท่าทันความกำกวมของเรื่อง ในแฮมเล็ตองก์ที่สอง ฉากที่สอง โพโลเนียสเห็นแฮมเล็ตกำลังอ่านหนังสืออยู่จึงถามแฮมเล็ตว่ากำลังอ่านอะไร แฮมเล็ตตอบว่า “คำ, คำ, คำ” (2.2.110) จุดประสงค์ของโพโลเนียส คือ การสอดส่องสิ่งที่แฮมเล็ตรู้หรืออยากรู้ ดังนั้น ที่แฮมเล็ตตอบโพโลเนียสว่า “คำ, คำ, คำ” ก็เพราะทราบเป้าหมายของโพโลเนียสดี จึงตอบคำถามกลับไปด้วยความกำกวม คำตอบของแฮมเล็ตมีไว้เพื่อให้โพโลเนียสคิดว่าเขาเป็นพวกสติไม่ดี แต่จริงๆ แล้ว มีความหมายว่ากำลังหลบการสอดส่องของโพโลเนียสผู้มีอำนาจอยู่ ส่วนโพโลเนียสก็ไม่แพ้กัน ถามแฮมเล็ตด้วยประโยคที่ดูเหมือนการพูดคุยปกติอย่าง “นั่นท่านอ่านอะไรหรือ” (2.2.110) แต่แท้จริงแล้วโพโลเนียสถามเพื่ออยากสอดส่องพฤติกรรมแฮมเล็ต
The Review
Hamlet
แฮมเล็ตเป็นละครชิ้นที่ยาวที่สุดของเชคสเปียร์ แต่ความยาวของเรื่องก็ไม่ได้ทำให้ความกำกวมชัดเจนขึ้นมาแต่น้อย การอ่านแฮมเล็ตเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า จึงขอแนะนำทุกคนให้ลองอ่านดู