ทำไมเราต้องอ่านงานของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เราอ่านอย่างอื่นไม่ได้เหรอ หากคิดดูแล้ว งานของเชคสเปียร์ก็เหมือนละครน้ำเน่าบ้านเราหรือเปล่า และในฐานะของคนไทยที่ห่างไกลจากประเทศที่พูดอังกฤษเป็นหลัก ความสำคัญเชิงภาษาและความสากลของเชคสเปียร์ก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนไทยอย่างเราขนาดนั้นหรือไม่
ในโลกวรรณกรรม หลายคนจะยกย่องวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ให้เป็นบุคคลสำคัญที่สุด มีคำพูดหนึ่งบอกว่ารากของวรรณกรรมเรื่องต่างๆ นั้นล้วนมาจากเชคสเปียร์ หากสืบเรื่องหนึ่งกลับไป เราจะพบลักษณะของงานเชคสเปียร์อยู่ในสิ่งที่เราเสพ ตัวอย่างเช่น ไลอ้อน คิง (The Lion King) นั้นก็เอาโครงเรื่องมาจากแฮมเล็ตที่ตัวเอกต้องคืนความเป็นธรรมให้พ่อที่ตายไป หลายคนถึงอ้างว่าเชคสเปียร์มีอยู่ทุกที่ เราทุกคนล้วนกำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของเขาแม้จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่แม้เชคสเปียร์จะมีอิทธิพลมากมาย แต่เราจำเป็นต้องอ่านงานเขาหรือไม่ สำหรับเรา นั่นคือปุจฉา
ส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าทุกคนที่สนใจวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องอ่านงานเชคสเปียร์ก็ได้ คุณรู้ไหมว่าเชคสเปียร์เสียชีวิตไปแล้วกว่า 400 ปี แล้วคุณรู้ไหมว่าประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลักนำเชคสเปียร์มาสอนเป็นในตารางเรียนก็เมื่อประมาณศตวรรษที่ 19 และ 20 นี่เอง ด้วยเหตุผลว่าเชคสเปียร์เป็นคนประดิษฐ์คำอังกฤษหลายคำที่คนใช้ในตอนนี้และประเด็นในงานของเขาก็ครอบคลุมชีวิตมนุษย์ทุกช่วงเวลา (ความรัก อำนาจ เพศ การหักหลัง และความตาย) อย่างไรก็ดี ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาบ้านเรา ยิ่งภาษาอังกฤษที่เชคสเปียร์ใช้ในงานเขียนของตัวเองเป็นภาษาอังกฤษสมัยเก่าและมีการจัดรูปประโยคที่ชวนอ่านยากอยู่แล้ว ถ้าคนที่อ่อนภาษาอังกฤษในยุคนี้ต้องไปอ่านงานเขาโดยไม่มีใครช่วย ก็ยิ่งอ่านไม่รู้เรื่องเข้าไปใหญ่ ตกลงแล้วเราจะได้อะไรจากการอ่านเชคสเปียร์กันแน่ มันมีวลีหนึ่งบอกว่าอุปสรรคที่ไม่ถึงตายจะทำให้เราเติบโตขึ้น แต่การจะให้เจอภาษาอังกฤษที่ทำความเข้าใจยากก็เป็นเรื่องที่ไม่จูงใจเท่าไร เพราะถึงแม้จะเข้าใจแต่สิ่งที่ได้กลับมา กลับเป็นแนวคิดที่มีกลิ่นของยุคอลิซาบีธัน (Elizabethan) เมื่อ 400 ปีก่อน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับยุคร่วมสมัยของเราขนาดนั้น ตกลงเราจะเติบโตขึ้นจากการอ่านเชคสเปียร์จริงเหรอ?
เราก็อาจจะเติบโตขึ้นจริงๆ ถ้าได้อ่านงานเชคสเปียร์ ถ้าผู้ใหญ่ได้อ่านโรมีโอกับจูเลียต (Romeo and Juliet) ก็อาจจะมีสำนึกว่า ทุกการกระทำของตัวเองไม่ได้ส่งผลกับตัวเองอย่างเดียว แต่ส่งผลไปสู่รุ่นลูกด้วย สาเหตุที่โรมีโอกับจูเลียตต้องพบโศกนาฏกรรม ส่วนหนึ่งก็มาจากความหัวรั้นกับศักดิ์ศรีของรุ่นพ่อแม่ที่ทำให้ไม่ยอมแก้ไขความขัดแย้งระหว่างตระกูลด้วยความปรองดอง การตีความโรมีโอกับจูเลียตแบบนี้ทำให้เราเริ่มไตร่ตรองการกระทำตัวเอง กล่าวคือ มันทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น แต่คำถามคือ ไม่ใช่ว่าการอ่านงานของคนอื่นนอกเหนือจากเชคสเปียร์ ก็ทำให้เราเติบโตขึ้นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกันหรือเปล่า?
ในสมัยนี้ เรามีงานในกระแสให้เสพเยอะแยะ เช่น นิยายแนวสืบสวนของอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) หรือสตีเวน คิง (Stephen King) งานแฟนตาซี งาน YA และงานโรแมนซ์กับวายในตลาดที่ไล่ชื่อไปก็คงขานชื่อได้ไม่จบ นอกเหนืองานร่วมสมัยก็มีงานจากนักเขียนชื่อดังคนอื่นอีก เช่น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) ที่เขียนออร์แลนโด (Orlando) แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) ที่เขียนแฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) หรือคาสึโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro) ที่เขียนคลาราและดวงอาทิตย์ (Klara and the Sun) นอกจากหนังสือแล้ว ตอนนี้ก็ยังมีเพลง เกม หนัง คอมมิค และภาพวาดให้เสพอีก ทุกงานที่กล่าวมาก็พอทำให้เราเข้าใจมนุษย์ได้ทั้งนั้น ถ้าคิดดีๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปอ่านงานของตาลุงชื่อเชคสเปียร์ที่เขียนงานให้อ่านยากเมื่อ 400 ปีก่อนเลย
หลายคนบอกว่างานของเชคสเปียร์มีความสากล จึงควรอ่าน ความสากลของงานคือลักษณะของงานที่ไม่ว่าสถานที่หรือเวลาจะเปลี่ยนไป เนื้อหาในงานก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถนำมาใช้ได้ตลอด กล่าวคือ ไม่ว่าคุณจะเพศอะไร ชนชั้นอะไร ชาติพันธุ์อะไร คุณก็สามารถมีความรู้สึกร่วมกับตัวละครในงานเชคสเปียร์ได้ทั้งนั้น เช่น เราใน 400 ปีหลังจากที่เชคสเปียร์เสียชีวิตล้วนก็สามารถมีความรู้สึกร่วมกับแฮมเล็ตได้ บางคนอาจรู้ความจริงบางอย่างจนต้องปลีกตัวจากคนอื่น บางคนก็อาจเจอการหักหลังในครอบครัว หรือชีวิตบางคนก็เหมือนต้องคอยทำตามคนอื่นอย่างเดียว ไม่มีชีวิตเป็นของตัวเองแบบโอฟีเลีย อย่างไรก็ตาม ความสากลของงานเขานั้นไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เราต้องอ่านงานเขาเสมอไปหรือเปล่า
หากดูแฮมเล็ต เราจะพบแนวทางการตีความเกี่ยวกับผู้หญิงในเรื่องแบบทั่วไปสองวิธี ทางหนึ่งคือเรื่องกำลังสร้างภาพจำว่าเพศหญิงต้องอยู่ใต้อำนาจเพศชายเสมอ ซึ่งสื่อว่าเรื่องพยายามทำให้แนวคิดปิตาธิปไตยมีอยู่ต่อไป ดังจะเห็นได้จากที่โอฟีเลียกับเกอร์ทรูดต้องทำตามผู้ชายตลอด ทางที่สองซึ่งอาจจะดีขึ้น คือมันช่วยแสดงให้เห็นถึงความลำบากในการปรับตัวของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ในคราวที่สังคมการเมืองกำลังเปลี่ยนแปลง เมื่อทบทวนดูดีๆ โอฟีเลียกับเกอร์ทรูดไม่มีเวลาได้ปรับตัวด้วยซ้ำเพราะสถานการณ์ในเรื่องดำเนินไปเร็วมาก หากมองแบบนี้อาจช่วยให้สังคมตระหนักถึงกลุ่มคนที่ถูกกดขี่มาตลอดประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี ความสากลของเชคสเปียร์ก็ความกำกวมว่าเรื่องกำลังจะสื่ออะไรหรือไม่ กล่าวคือ มันขาดความชัดเจนและเป็นข้อเสียในยุคร่วมสมัยที่ต้องการความชัดเจนเวลาพูดถึงปัญหาในสังคมหรือเปล่า หากเราต้องการทำความเข้าใจโลกในตอนนี้ เราก็ควรจะไปดูเรื่องที่พูดถึงประเด็นร่วมสมัยแบบเข้มข้นดีกว่าไหม เช่น ถ้าพูดถึงประเด็นปัญหาของเพศหญิง ก็ควรไปอ่านห้องส่วนตัว (A Room of One’s Own) ของวูล์ฟไปเลย
อย่างไรก็ดี ในการตอบคำถามว่าทำไมเราต้องอ่านงานเชคสเปียร์ เราอาจจะต้องกลับมาถามตัวเองว่าทำไมเราถึงเลือกหยิบบางอย่างมาอ่าน สุดท้ายนี้ ถ้าเราอ่านเชคสเปียร์เพราะอยากอ่าน นั่นก็ถือเป็นเหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องขยายความ ถ้าตั้งใจอ่านงานเชคสเปียร์ เราก็จะได้แง่คิดกับประเด็นกลับมาเยอะเหมือนกัน (งานเชคสเปียร์มีคุณค่าในตัวมันอยู่แล้ว) แต่ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบ ก็ไม่เป็นไร ในโลกยังมีหลายเรื่องที่ให้สาระและสนุกกว่าเชคสเปียร์อีกเยอะ ชีวิตคนนั้นแสนสั้นแต่วรรณกรรมนั้นมีมากมาย อย่าไปคิดว่าเชคสเปียร์คือประตูบานเดียวที่พาเราเข้าไปในโลกวรรณกรรมที่แท้จริง
บรรณานุกรม
- Bloom, H. (1998). Shakespeare’s universalism. In Shakespeare: The invention of the human (pp. 1-17). Riverhead Books.
- Shakespeare’s Influence on Contemporary Literature
- To Teach or Not To Teach: Is Shakespeare Still Relevant to Today’s Students?
- Shakespeare’s legacy and impact in the 20th and 21st centuries
- The Case for Reading Fiction