Table of Contents
บทความนี้พูดถึงความหมายของ High Fantasy และ Low Fantasy ว่ามันคืออะไร และมีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างแฟนตาซีสองประเภทนี้นิยาย Fantasy คือหนึ่งในหมวดยอดนิยมและขายดีตลอดกาลในสื่อเล่าเรื่อง อย่างไรก็ดี คนทั่วไปคงไม่รู้ว่าความเป็นแฟนตาซีนั้นมีหลายประเภท
หลายเรื่องอาจมีการนำเสนอระบบเวทมนตร์ แต่วิธีการนำเสนอระบบดังกล่าวเข้ามาในเรื่อง และท่าทีที่ตัวละครมีต่อเวทมนตร์นั้นกลับมีหลายแบบแตกต่างกันไป
ความแตกต่างตรงนี้แหละ คือเส้นแบ่งระหว่างไฮแฟนตาซี และโลว์แฟนตาซี
1 ความแตกต่างระหว่างไฮแฟนตาซี (High Fantasy) และโลว์แฟนตาซี (Low Fantasy)
โลกในเรื่องที่เป็นไฮแฟนตาซีจะเปรียบเสมือนโลกคู่ขนานหรืออีกโลกหนึ่งที่ต่างจากโลกที่เราอยู่ไปเลย โลกเหล่านี้มักจะถือว่าคนทั่วไปคือคนที่ใช้เวทมนตร์ได้ และในโลกก็มักจะมีสิ่งมีชีวิตในตำนานต่างๆ ไล่ไปตั้งแต่แวมไพร์ เซนทอร์ เพกาซัส หรือมังกร ในทางตรงข้าม โลกในเรื่องที่เป็นโลว์แฟนตาซีจะเป็นโลกจริงที่เราอยู่ เพียงแค่จะมีระบบเวทมนตร์ต่างๆ ที่คนคิดว่าไม่มีอยู่จริงปรากฏให้เห็นในโลกของเรา
2 ไฮแฟนตาซีคืออะไร
ในบางครั้ง เรื่องประเภทนี้ก็มักจะถูกเรียกด้วยชื่ออื่น เช่น Epic Fantasy หรือ Sword & Sorcery Fantasy แต่โดยทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เรื่องประเภทนี้จะมีจุดร่วมอยู่ตรงที่มันพยายามพาคนอ่านไปอีกโลกหนึ่งที่มีเวทมนตร์หรือมีความเป็นแฟนตาซีอยู่ ซึ่งตัดขาดจากโลกจริงที่เราอยู่ตอนนี้ โดยทั่วไป ไฮแฟนตาซีจะเป็นหน้าเป็นตาให้หมวดแฟนตาซีประเภทอื่น กล่าวคือ เวลาที่เพื่อนหรือคนอื่นบอกว่าไม่ชอบเรื่องแฟนตาซี ในใจของพวกเขาก็น่าจะหมายถึงไฮแฟนตาซีนี่แหละ
เวลาเราจะรู้ว่าเรื่องไหนคือไฮแฟนตาซี เรารู้ได้จากวิธีที่เรื่องนำเสนอเวทมนตร์กับอมนุษย์ในเรื่อง ประวัติศาสตร์หรือตำนานที่ถูกสร้างขึ้นในเรื่อง และการต่อสู้ระหว่างฝั่งคนดีและฝั่งคนชั่ว (อมนุษย์คือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น สัตว์ในตำนานที่เคยกล่าวไป)
เพื่อให้กระจ่างขึ้น เรามาดูจุดร่วมของงานไฮแฟนตาซีดีกว่า
3 จุดร่วมของงานไฮแฟนตาซี
โลกอื่นที่มีระบบเวทมนตร์และความเป็นแฟนตาซี
โลกอื่นที่กล่าวถึง คือ ต่างโลกหรือโลกที่ไม่ใช่โลกจริงที่เราอยู่ สมมุติว่างานของนักข่าวคือการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกจริง งานไฮแฟนตาซีก็จะเป็นการเล่าเหตุการณ์ของต่างโลกแทน ดังนั้น ทั้งสองงาน—งานของนักข่าวและงานไฮแฟนตาซี—นั้นกล่าวได้ว่าเป็นงานที่อยู่คนละขั้ว
โลกที่ปรากฏในงานไฮแฟนตาซีคือโลกที่มาจากจินตนาการของผู้แต่ง ผู้แต่งในงานประเภทนี้มักชื่นชอบที่จะสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ตำนาน กฏหมาย ภาษา หรือประวัติศาสตร์
แต่บางที โลกอื่นก็อาจจะเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริงอยู่บ้าง อย่างที่ปรากฏในซีรีส์ตำนานแห่งนาร์เนีย (The Chronicles of Narnia) หรือซีรีส์ธุลีปริศนา (His Dark Materials) แต่ส่วนใหญ่แล้ว โลกอื่นที่กล่าวถึงนั้นมักจะตัดขาดจากโลกความเป็นจริงไปเลย เช่น มิดเดิลเอิร์ธของลอร์ดออฟเดอะริงส์ (The Lord of the Rings) หรือโลกอวกาศอนาคตในสตาร์วอร์ส (Star Wars)
การนำเสนอโลกอื่นนี้มักจะถูกมองว่ามันมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้อ่านได้หลบหนีจากโลกแห่งความจริงสักพักหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้พบประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นหรือไม่สามารถเจอได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
ตำนานปกรณัม
เรื่องแฟนตาซีแทบทุกเรื่องมักจะมีรากฐานจากตำนานหรือเรื่องเล่าพื้นบ้านเสมอ เช่น ความเป็นปกรณัมตะวันตกที่แทบจะเจอได้ในงานแฟนตาซีร่วมสมัย อย่างพวกอัศวิน มังกร หรือเอลฟ์ บางเรื่องก็อาจจะดึงจากฝั่งตะวันออกซึ่งส่วนมากจะเป็นตำนานของจีนหรือญี่ปุ่น แต่แน่นอนไม่ว่าจะดึงจากฝั่งไหน ทุกเรื่องจำเป็นต้องมีตำนานหรือเรื่องเล่าที่สืบทอดมาในตัวมันเอง
ถึงแม้โลกอื่นที่ว่าจะไม่หลงเหลือสัตว์ในตำนานแล้ว อย่างน้อยเรื่องก็อาจจะมีการกล่าวถึงมันในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในอดีต หรือหากสิ่งมีชีวิตดังกล่าวไม่มีอยู่จริงๆ เรื่องก็อาจจะเล่าถึงสิ่งมีชีวิตระดับจักรวาลที่มีอยู่ก่อนโลกจะเกิดแทน
เรื่องแฟนตาซีที่ดีคือการที่ผู้แต่งสามารถผสมจินตนาการของตัวเองเข้ากับตำนานที่มีในโลกจริง หากผสมเรื่องออกมาได้ลงตัว เรื่องแฟนตาซีนั้นจะมีความแปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวก็ยังสามารถทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมกับเรื่องได้ เนื่องจากพวกเขาพอคุ้นเคยกับปกรณัมที่อยู่ในโลกความเป็นจริงอยู่บ้าง
สำคัญสุดคือมันทำให้โลกแฟนตาซีนั้นมีความสมจริงเหมือนโลกเรา เพราะอย่าลืม ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก็เริ่มจากตำนานเหมือนกัน เช่น มนุษย์เชื่อว่าฟ้าผ่าเกิดขึ้นเพราะซุสหรือน้ำท่วมเพราะโพไซดอน เป็นต้น
ความตื่นเต้น
เรื่องแฟนตาซีที่ให้บรรยากาศสงบๆ นั้นมีน้อย ส่วนใหญ่แล้ว ไฮแฟนตาซีจะชอบมีการนำเสนอสงครามตั้งแต่สเกลเล็กๆ ไปจนถึงนอกโลก อีกทั้งแฟนตาซีประเภทนี้มักจะให้ความสำคัญกับการนำเสนอภาพการเมืองที่เข้มข้นและตัวเอกที่ต้องต่อสู้ภายใต้สังคมที่กดขี่คนบางกลุ่ม
4 ตัวอย่างงานไฮแฟนตาซี
ลอร์ดออฟเดอะริงส์ (The Lord of the Rings) โดยโทลคีน (J.R.R. Tolkien)
ลอร์ดออฟเดอะริงส์มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องไฮแฟนตาซีที่มีอิทธิพลและนำเสนอภาพของความเป็นแฟนตาซีออกมาได้ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เรื่องนี้มีการนำเอาตำนานปกรณัมจากตะวันตกเข้ามาใช้และแต่งเติมต่อด้วยจินตนาการของโทลคีน ภาพของมิดเดิลเอิร์ธมักถูกมองว่าสมจริงและมีเอกลักษณ์ เนื่องด้วยโทลคีนได้คิดระบบการพูด ตัวอักษร และไวยากรณ์ที่มีอยู่ในโลกจินตนาการของเขาโดยเฉพาะ นอกจากระบบภาษา โลกของโทลคีนก็มีประวัติศาสตร์ที่ฟังดูสมจริงในตัวมันเอง
โครงเรื่องของลอร์ดออฟเดอะริงส์มักจะพยายามทำให้ผู้อ่านหรือดูเห็นภาพถึงสงครามที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน พร้อมกับอาวุธและเทคโนโลยีทรงอานุภาพที่ถูกนำมาใช้ในการสู้รบ
คำอธิษฐานในวันที่จากลา (Sousou no Frieren) โดยคาเนฮิโตะ ยามาดะ (Kanehito Yamada) และสึคาสะ อาเบะ (Tsukasa Abe)
เรื่องนี้เกิดขึ้นในโลกที่ต่างจากโลกเราอย่างชัดเจน ตัวเอกในเรื่องมีชื่อว่า ฟรีเรน จอมเวทสาวที่มาจากเผ่าเอลฟ์ ในเรื่องมีระบบเวทมนตร์ ดังจะเห็นได้จากที่ตัวละครอย่างฟรีเรนและคนอื่นๆ ในเรื่องได้ใช้มัน
และเหมือนสูตรสำเร็จของเรื่องแฟนตาซีและลอร์ดออฟเดอะริงส์ ทั้งหมดจะต้องเล่าถึงการประทะกันระหว่างฝั่งคนดีและฝั่งคนชั่ว ดังจะเห็นได้จากกลุ่มผู้กล้าที่ต้องไปจัดการกับจอมมารในเรื่อง
5 โลว์แฟนตาซีคืออะไร
โลว์แฟนตาซีจะแตกต่างจากไฮแฟนตาซีตรงที่มันนำเสนอภาพของโลกจริงที่เราอยู่ กล่าวคือ แทนที่โลว์แฟนตาซีจะพาเราไปต่างโลกที่ห่างไกล มันกลับไม่ได้พาเราไปไหนนอกจากโลกความเป็นจริงของเรา โลว์แฟนตาซีจะยังให้เราอยู่ในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่โลกอื่นแบบที่ไฮแฟนตาซีทำ
โลว์แฟนตาซีมักจะเป็นเรื่องประเภทสัจนิยมมหัศจรรย์ ดิสโทเปีย หรือดาร์กแฟนตาซี เพราะเรื่องเหล่านี้มักจะมีการนำเสนอเวทมนตร์หรือความเป็นแฟนตาซีในโลกความเป็นจริง
6 จุดร่วมของงานโลว์แฟนตาซี
โลกจริง(ที่ไม่จริง)
นิยามของโลว์แฟนตาซีคือมันไม่ได้นำเสนอโลกอื่นหรือจักรวาลอื่น แต่นำเสนอภาพของโลกที่เราอยู่แทน ไม่ว่าจะเป็นเมืองสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องหรือหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากผู้คน
อย่างไรก็ดี เรื่องก็อาจจะปรับเปลี่ยนโลกของเราไปนิดหนึ่งได้เหมือนกัน เช่น ในหลายเรื่องที่เป็นดิสโทเปีย ภาพที่ถูกนำเสนอจะเต็มไปด้วยหลายสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยในโลกความเป็นจริง แต่กระนั้นมันก็ยังอยู่ในโลกความเป็นจริง เพราะจะได้ทำให้คนอ่านสามารถอินไปกับโลกที่ล่มสลายซึ่งเรื่องนำเสนอ
แนวคิดของโลว์แฟนตาซี คือ เพื่อทำให้คนอ่านเชื่อและมีจินตนาการว่า มันมีความพิเศษอยู่ในโลกความเป็นจริงของเราจริงๆ
สัตว์ในตำนานและความพิเศษ
แม้ว่าโลว์แฟนตาซีจะยึดตามโลกความเป็นจริง แต่มันก็ยังเป็นเรื่องที่มีไว้ให้เราหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงอยู่วันยังค่ำ กล่าวคือ มันจำเป็นต้องมีเวทมนตร์หรืออะไรก็ได้ที่พิเศษ แม้ว่ามันจะถูกนำเสนอออกมาอย่างคลุมเคลือหรือไม่ก็ตาม
ตัวอย่างเช่น เรื่องสัจนิยมมหัศจรรย์บางเรื่องอาจจะนำเสนอตัวเอกที่สามารถรับรู้อารมณ์ของคนอื่นได้หากได้ชิมอาหารฝีมือของพวกเขา ความพิเศษดังกล่าวสามารถนำเสนอขนานไปกับโลกความเป็นจริงได้อย่างธรรมชาติ แต่ความพิเศษเล็กๆ นี้ก็ช่วยทำให้เรามีความสงสัยและจินตนาการเกี่ยวกับโลกความเป็นจริงที่เราอยู่มากขึ้น เช่น ในสังคมอาจจะมีคนที่มีความสามารถแบบนี้อยู่จริงๆ เพียงแค่เราไม่รู้
หรือบางเรื่องอาจจะนำเสนอสัตว์ในตำนานต่างๆ ที่สามารถแปลงกายได้และจำเป็นจะต้องใช้ชีวิตกลมกลืนไปกับคนทั่วไป เช่น มนุษย์หมาป่าหรือแวมไพร์ สัตว์ในตำนานพวกนี้มักจะถูกเล่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต้องอาศัยไปกับคนหมู่มาก ต้องคอยปกปิดตัวตนตัวเองและจะมีแค่สมาชิกในกลุ่มเท่านั้นที่แยกได้ว่าใครคือพวกตัวเอง นอกเหนือจากมนุษย์หมาป่าและแวมไพร์ เรามักจะคุ้นเคยกับตัวละครอื่นที่คล้ายๆ กันนี้ดี เช่น พวกภูติ มังกร นางเงือก หรือจอมเวทย์ ฯลฯ
การเติบโตของตัวละคร
หนึ่งสิ่งที่ทำให้โลว์แฟนตาซีแตกต่างจากไฮแฟนตาซี คือ เรื่องมันมักจะนำเสนอการเติบโตของตัวละครมากกว่า เพื่อให้เรารู้สึกมีความผูกพันกับตัวละครเป็นหลัก กล่าวคือในขณะที่ไฮแฟนตาซีจะดำเนินเรื่องโดยการพยายามนำเสนอภาพใหญ่ของการสู้กันระหว่างสองฝั่ง โลว์แฟนตาซีจะใช้ดำเนินเรื่องโดยเน้นการนำเสนอพัฒนาการของตัวละครแทน (character-driven) โครงเรื่องของโลว์แฟนตาซีจะไม่ได้สนใจว่าเวทมนตร์มันจะส่งผลต่อชะตากรรมของโลกอย่างไร แต่จะสนใจว่าเวทมนตร์มันทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งเปลี่ยนไปได้อย่างไรมากกว่า
7 ตัวอย่างงานโลว์แฟนตาซี
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) โดยกาเบรียล มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)
หนึ่งร้อยปีแห่งการโดดเดี่ยวมักถูกมองว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ดีที่สุดในโลก วรรณกรรมเรื่องนี้จะสำรวจประเด็นของประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนในลาตินอเมริกา โดยการเล่าประวัติศาสตร์ในเรื่องมักจะประสมความเป็นแฟนตาซีเข้าไป เช่น ตัวละครที่สามารถบินในอากาศได้หรือขยับสิ่งของโดยใช้แค่ความคิดอย่างเดียว
ซีรีย์เพอร์ซีย์ แจ็กสัน (Percy Jackson) โดยริค ไรออร์แดน (Rick Riordan)
เพอร์ซี แจ็กสันเป็นเรื่องราวของกลุ่มคนวัยรุ่นที่มีสายเลือดของเทพโอลิมปัสที่ต้องใช้ชีวิตในอเมริกา แม้เรื่องจะเต็มไปด้วยความแฟนตาซีเช่น เทพ และสัตว์ในตำนานอย่าง เซนเทอร์ ไซคลอปส์ หรือเซอร์เบอรัส อย่างไรก็ดี แม้เรื่องจะมีจุดขายอยู่ที่ช่วงการต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตระดับเทพ แต่แก่นเรื่องของมันจริงๆ คือการนำเสนอการเติบโตของเพอร์ซีย์ในฐานะวัยรุ่นอเมริกาคนหนึ่งไปพร้อมกับกลุ่มเพื่อนของเขา ด้วยเหตุนี้ เรื่องนี้จึงยังเป็นโลว์แฟนตาซีเนื่องด้วยมันอยู่ในสมการของเรื่องโลว์แฟนตาซี
8 ไฮแฟนตาซี หรือโลว์แฟนตาซี เรื่องแนวไหนเหมาะกับคุณ
หากสำรวจตลาดในปัจจุบัน คุณจะพบว่าที่จริงแล้ว หลายเรื่องแฟนตาซีในตอนนี้ เช่น มหาศึกชิงบัลลังก์ (Game of Thrones) ได้ประสมประเภทของแฟนตาซีหลายประเภทอยู่ในเรื่องเดียว กล่าวคือ เรื่องมันอาจจะไม่ได้เป็นไฮแฟนตาซีหรือโลว์แฟนตาซีแบบจ๋าๆ ไปเลย แต่จะอยู่ประมาณตรงกลางระหว่างสองขั้วของไฮและโลว์แฟนตาซีมากกว่า ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร อย่างไรก็ดี มันก็พอมีแนวทางคร่าวๆ ที่จะบอกได้ว่าคุณจะชอบเรื่องแนวไหน
ไฮแฟนตาซี หากคุณชอบดูฉากต่อสู้ที่อยู่ในต่างโลก รวมถึงต้องเป็นโลกที่มีระบบเวทมนตร์ที่ซับซ้อนและมีความเป็นตำนานปกรณัมปะปนอยู่ในเรื่อง
โลว์แฟนตาซี หากคุณอยากรู้จักธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น ผ่านการมีความพิเศษต่างๆ ที่ไม่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง เช่น เวทมนตร์และความสามารถพิเศษติดตัวของแต่ละคน หรือคุณแค่อยากรู้เล่นๆ ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกเรามีสิ่งที่เรียกว่าพลังพิเศษหรือเวทมนตร์ที่ช่วยให้เราดำเนินชีวิตในแบบที่โลกความเป็นจริงไม่สามารถทำได้