กาหลงขาวพริ้งแพร้ว งามผกา
กลีบดอกพร่างพรายตา โดดเด่น
ธรรมชาติแต่งวิญญา เพริศพิสุทธิ์
เสน่ห์ซึ้งกลางดงเน้น พร่างพริ้งใจปอง
— ChatGPT (AI Chatbot), โคลงสี่สุภาพที่มีคำว่ากาหลง, 2567
ในยุคที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดพัก เชื่อว่าทุกคนคงจะเคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่า AI ผ่านหูกันมาบ้าง
AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นโปรแกรมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูล และประมวลผลออกมาได้ มนุษย์จึงนำ AI มาช่วยทุ่นแรงในการทำงานที่ต้องใช้เวลาและความคิด ซึ่งก็ได้มีการพัฒนา AI ต่อมาจนกำเนิดเป็น AI แชตบอท
แชตบอท (Chatbot) คือ AI ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสนทนา ตอบคำถาม แก้ปัญหา รวมถึงช่วยหาข้อมูลตามที่ผู้ใช้งานต้องการได้ เช่น Gemini ChatGPT ZWIZ.AI และ Botpress
โดยเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันแชตบอทที่ได้รับความนิยมในไทยอยู่ขณะนี้เห็นจะเป็น ChatGPT แชตบอทอัจฉริยะที่สามารถตอบคำถามได้อย่างอิสระและหลากหลาย ทำให้ ChatGPT ได้รับความสนใจและมีผู้ทดลองใช้งานเป็นจำนวนมาก เพราะมีข้อจำกัดด้านเนื้อหาไม่มาก ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสนุกกับการใช้ ChatGPT ได้นานัปการ ไม่ว่าจะเป็น การแก้โจทย์เลข การสรุปข้อมูล การเขียนบทความ หรือแม้กระทั่งการเขียนงาน วรรณกรรม อย่าง เรื่องสั้น นวนิยาย และบทร้อยกรอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น แชตบอทถือได้ว่าเป็นผู้ช่วยที่ดีทีเดียวสำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่วัยทำงาน ที่ต้องการประหยัดเวลาในการทำงาน เนื่องจาก AI แชตบอทเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย ไม่ต้องเรียนรู้เยอะ เพียงป้อนคำสั่ง หรือพิมพ์สิ่งที่เราต้องการค้นหา AI ก็จะช่วยคัดกรองข้อมูลที่มีประโยชน์ให้ โดยที่เราไม่ต้องไปนั่งรวบรวมเอง ด้วยความสะดวกสบายที่ AI มอบให้กับผู้ใช้งาน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกมันถึงกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานฝีมือดีของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว
การมาถึงของ AI สร้างแรงสะเทือนถึงวงการวรรณกรรมและนักเขียน เมื่อ AI พัฒนาจนสามารถรังสรรค์ผลงานด้านวรรณกรรมขึ้นมาได้ จนแทบจะเป็นเหมือน “เจ้าของผลงาน” แทนที่จะเป็นแค่เพื่อนร่วมงานเฉยๆ
และหนึ่งในความเก่งกาจอย่างก้าวกระโดดของ AI แชตบอทคือการแปลนวนิยาย โดยมีความสามารถในการปรับเนื้อหาจากภาษาต้นทางเป็นภาษาต่างๆ ได้เสมือนนักแปล ซึ่งบริษัทที่เกี่ยวข้องก็ได้ประโยชน์จากแชตบอทนักแปลเพราะมันช่วยลดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก ทั้งยังสามารถแปลได้หลายภาษาอีกด้วย
หรือจะเป็นการสวมบทบาท AI ยอดกวี ซึ่งมีฝีมือถึงขนาดสามารถเรียนรู้รูปแบบและฉันทลักษณ์การเขียนบทร้อยกรอง เช่น โคลงหรือกลอนขึ้นมาได้ เป็นที่แน่นอนว่าถูกใจเหล่านักเรียนที่ต้องทำงานส่งครูหรือหมู่วัยรุ่นที่ทดลองให้มันแต่งกลอนเล่นๆ สนุกๆ ตามหัวข้อหรือคำที่ตนเองต้องการเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนบนโลกอินเทอร์เน็ต ในส่วนนี้แชตบอทตัวดีก็ดันปรุงแต่งโคลงกลอนขึ้นมาได้โดนใจผู้ใช้งานเสียเหลือเกิน
ยิ่งไปกว่านั้น AI ยังลงมือทำสิ่งที่ส่งผลให้เหล่านักเขียนถึงกับต้องกุมขมับ เพราะบริษัทเทคโนโลยีต่างพากันคลอดแพลตฟอร์มแชตบอทที่สันทัดในเรื่องการเขียนนวนิยายโดยเฉพาะออกมาอย่างแพร่หลาย การแต่งนิยายหรือเรื่องสั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแค่มีไอเดียและป้อนโครงเรื่อง (Plot) ลงไปมันก็จะผลิตงานเขียนให้ได้ตามที่เราต้องการ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราบังเอิญพบหนังสือที่เขียนโดย AI วางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ข้างๆ กับหนังสือที่เขียนโดยมนุษย์ เป็นความก้าวหน้าที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าหวั่นใจสำหรับคนบางกลุ่มเช่นเดียวกัน
แต่ผลงานที่ AI ผลิตออกมาก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นงานที่เลิศเลอเพอร์เฟกต์ เพราะสิ่งที่ AI ประมวลผลออกมานั้นมาจากการรวบรวมคำหรือข้อมูลต่างๆ จากหลายแหล่ง ซึ่งอยู่บนระบบฐานข้อมูลหรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จากนั้นนำมาเรียบเรียงตามคำสั่งที่ผู้ใช้ป้อนข้อมูล คล้ายกับการตัดแปะรูปภาพ อาจเข้าใจได้ว่าเนื้อหาในงานวรรณกรรมเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่กลั่นกรองออกมาจากมันสมองของ AI แต่มาจากการหยิบยืมข้อมูลจากที่ต่างๆ ที่พอจะหาได้มาเรียงต่อกัน
อย่างการแต่งโคลงของ ChatGPT ที่ใส่ไว้ตอนต้นของบทความ หากอ่านดูแล้วก็เหมือนจะเป็นโคลงที่ใช้ได้ เพราะสัมผัสแต่ละแห่งก็ดูเหมือนจะถูกต้องตามฉันทลักษณ์ แต่แท้จริงแล้วยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายจุด เช่นตำแหน่งคำเอกคำโท จำนวนคำในวรรคที่อ่านแล้วฟังดูตะกุกตะกักไม่ตรงจังหวะ การสรรคำที่ยังไม่สละสลวยเท่าไหร่นัก หรือความหมายของคำในบางวรรคที่อ่านแล้วแอบขมวดคิ้ว
ตัวผู้เขียนในฐานะคนที่ได้ศึกษาการประพันธ์ร้อยกรองมา สามารถจับผิดการแต่งโคลงของ ChatGPT ได้หลายจุด การเล่นเสียง เล่นคำ สรรคำ ก็ยังไม่ถึงกับไพเราะนัก คล้ายว่ามันพยายามจะหาคำมาใส่ให้ถูกต้องตามหัวข้อ “ดอกกาหลง” และสัมผัสตามฉันทลักษณ์เท่านั้น การจะเรียนรู้รายละเอียดที่ยิบย่อยทั้งหมดของการประพันธ์บทร้อยกรองตามไวยากรณ์ภาษาไทยหรือการปรับแต่งภาษาให้เสนาะหูอาจจะยังยากเกินไปสำหรับ AI
เพชรที่ขาดการเจียระไน มองดูแล้วก็คงระคายสายตา เช่นเดียวกับงานวรรณกรรมทื่อๆ ที่จับมาสุมรวมกันโดยขาดการขัดเกลา
ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรมก็ดีหรืองานศิลปะก็ดี มนุษย์ที่สรรค์สร้างมันล้วนกลั่นกรองมาจากจิตวิญญาณ จริงอยู่ที่ก่อนคนเราจะเขียนงานขึ้นมาสักหนึ่งชิ้น จำเป็นจะต้องหาข้อมูลและมีแหล่งอ้างอิงประกอบ แต่มันก็ไม่ใช่แค่การ Copy ข้อมูลเหล่านั้นมา Paste ลงไปบนงานเท่านั้น แต่เราได้นำมันมาขึ้นรูปปั้นใหม่ หลอมรวมมันเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัว อารมณ์ความรู้สึก น้ำเสียงของผู้เขียน เจตนาแฝงที่ต้องการสื่อผ่านงาน หรืออะไรต่างๆ อีกมากมาย ก่อนถ่ายทอดมันออกมาเป็นตัวหนังสือได้สักประโยคหนึ่ง
แม้กระทั่งสิ่งที่เห็นชัดเจนอย่างศิลปะการใช้ภาษา เทคนิคการนำเสนอ ลูกเล่นทางภาษาต่างๆ ที่ผู้เขียนได้ใส่ลงไปในงาน กว่าจะขัดเกลาจนสละสลวยได้ต้องผ่านการฝึกฝนฝีมือ การทำซ้ำๆ การค้นหาจนเจอแนวทางของตนเอง เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ความอดทน และความหลงใหลที่มีต่อการผลิตงานเขียน
สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันหาได้จากงานของ AI
ความเป็นศิลปะในงานวรรณกรรมแทบจะหายไปจนหมดสิ้นเมื่อผลงานนั้นถูกรังสรรค์ขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์
การที่ AI สามารถสร้างหรือเขียนงานวรรณกรรม น่าจะกลายมาเป็นตัวช่วยสำหรับคนที่มีความคิดดีๆ แต่ไม่อาจเรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดในหัวออกมาได้ดั่งใจต้องการ อีกแง่หนึ่งคนที่ใช้ AI ผลิตงานเขียนอาจไม่ชอบความยุ่งยากในการประกอบสร้างเรื่องราวขึ้นมาเป็นนวนิยายหนึ่งเรื่อง แต่มีความต้องการที่จะใส่ความคิดบางส่วนลงไปในงานเท่านั้น หรือหากโฟกัสไปที่เรื่องการเขียนบทร้อยกรอง บางคนอาจจะมองว่าการแต่งโคลงกลอนเป็นเรื่องยาก เนื่องจากฉันทลักษณ์ที่มีหลากหลายและรายละเอียดเยอะ แต่อยากอ่านหรือมีไอเดียที่อยากเขียนออกมาเป็นโคลงกลอน ก็สามารถใช้ AI เพื่อสนองความต้องการนั้นได้
กระนั้นผู้เขียนก็ไม่อาจทราบถึงเหตุผลที่แท้จริงในการเลือกใช้ AI ในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมทั้งชิ้นงาน แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าสิ่งนี้เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ หากใช้อย่างมีขอบเขต AI จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก เช่น การใช้ AI ช่วยหาข้อมูลประกอบหรือตรวจหาคำผิดเบื้องต้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์อาจไม่ได้ทำให้วงการวรรณกรรมเติบโตขึ้นอย่างที่คิด การที่ผู้คนหันไปสนใจการจ้าง AI ในการแปลภาษา แต่งกลอน เขียนหนังสือ หรือผลิตบทความ อาจทำให้งานที่เขียนโดยฝีมือมนุษย์ถูกด้อยค่าว่าเป็นงานง่ายๆ ใช้ AI แชตบอททำแทนก็ได้ ทั้งถูกกว่า เร็วกว่า ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากก็มีงานเขียนคลอดออกมามากมาย
ซึ่งคงจะเป็นความคิดที่ไม่ดีแน่
ในความเป็นจริงแล้วหากพินิจพิจารณาให้ดี งานของ AI ยังไม่สามารถเทียบชั้นกับงานของมนุษย์ได้ 100% เพราะยังมีจุดบกพร่อง ทั้งเรื่องภาษาที่ดูจะแข็งทื่อไร้อารมณ์ศิลป์ การเลือกใช้คำศัพท์ส่วนมากยังคงไร้อรรถรส และเป็นผลงานที่ไม่อาจใส่จิตวิญญาณลงไปได้
ในฐานะผู้อ่าน ความไหลลื่น ความสละสลวย คือสิ่งที่ควรมีในงานเขียน ถ้าขาดไปก็ยากที่จะอ่านให้สนุกได้
แต่หากพูดในฐานะนักเขียนคนหนึ่งที่หลงใหลในงานวรรณกรรม การใช้ AI ผลิตงานเขียนคล้ายกับจะเป็นการปฏิเสธความมุมานะที่มีต่อการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และการขัดเกลาฝีมือของนักเขียน ซึ่งน่าเศร้าใจไม่น้อยที่งานซึ่งใส่ความตั้งใจลงไปอย่างเต็มเปี่ยมกลับถูกนำไปเปรียบเทียบกับงานของ AI ที่ไม่รู้ประสีประสาถึงความงดงามในงานวรรณกรรม
หากมองว่าผลงานของ AI สามารถสวมรอยแทนที่นักเขียนตัวจริงได้ คงไม่ใช่เรื่องดีต่อวงการวรรณกรรมเป็นแน่ หากคนละทิ้งปากกาของตนแล้วหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีกันหมด ความสวยงามของศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้นจะค่อยๆ หายไปจากหน้าหนังสือในสักวัน
ขึ้นชื่อว่า ปัญญาประดิษฐ์ ก็คงเป็นปัญญาประดิษฐ์ ที่ไม่รู้จักประดิดประดอย
สุดท้ายนี้ เราสามารถเรียก AI ว่า “นักเขียน” ได้จริงหรือไม่ ?
กลีบกาหลงพร่างพริ้ง ยามสาย
ยามเมื่อแสงทักทาย ส่องต้น
ดุจดาวพร่างประกาย เต็มพุ่ม อร่ามแม่
ใยแม่งามล้นพ้น แม่สร้อยกาหลง
— ณัฐพิมล (ผู้เขียน), ดาหลากาหลง, 2566
บรรณานุกรม
รู้จัก “AI” (ปัญญาประดิษฐ์) คืออะไร นำมาใช้อะไรได้บ้าง โดย ไทยรัฐออนไลน์
ทำไม ChatGPT ถึงดังกว่าแชทบอทของ Microsoft และ Meta ? โดย Thaiware
‘นิยายจีนออนไลน์’ ขายดีเพราะใช้ AI แปล หนุนยอดขายบูมในต่างแดน โดย กรุงเทพธุรกิจ
ChatGPT บุกวงการนักเขียนนิยาย หนังสือที่เขียนโดยเอไอผุดเต็มตลาด โดย PPTV Online