Table of Contents
งานเขียนเป็นงานหนัก โดยเฉพาะการเขียนนวนิยาย สิ่งที่นักเขียนทุ่มเทลงไปไม่ใช่แค่แรงใจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นแรงกายด้วย พวกเขาต้องนอนดึก ตื่นสาย ทำงานหามรุ่งหามค่ำ กินข้าวไม่ตรงเวลา แถมยังต้องดันเฟซบุ๊ก เขียนบล็อก หรือหาเลี้ยงชีพจากงานประจำอื่นๆ เมื่อเขียนนิยายจบจะต้องทำอย่างไรต่อ อะไรที่ต้องทำหลังจากเขียนเสร็จ ยิ่งถ้าเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่เขียน คำถามเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะทุกคนก็ตั้งคำถามว่าต้องทำอย่างไรต่อ นี่คือ 5 วิธีแก้ไขนิยาย ที่จะช่วยให้ต้นฉบับร่างแรกดีขึ้นกว่าเดิม เปลี่ยนจากหนังสือธรรมดา ให้กลายเป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยม
ถ้ายังไม่ได้อ่านบทความนี้ อย่าเพิ่งส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์
จะทำอย่างไรหลังจากเขียนนวนิยายร่างแรกเสร็จแล้ว อะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ไม่ว่านักเขียนจะจัดพิมพ์หนังสือด้วยตนเอง ลงเป็นตอนๆ ในบล็อก ส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา จะหาใครมาช่วยดูแลต้นฉบับ ในบทความนี้ผมจะนำเสนอกระบวนการต่างๆ ที่จะต้องทำและไม่ควรทำ หลังเขียนต้นฉบับร่างแรก
โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ แน่นอนว่าอาจจะไม่ต้องทำตามทุกขั้นตอน หรือลงมือทำในทันที ผมรู้ว่ามีหลายประเด็นที่ข้ามไปได้ แต่ทั้งหมดก็เพื่อทำให้แน่ใจว่าต้นฉบับที่ส่งไปยังสำนักพิมพ์พร้อมที่จะให้บรรณาธิการพิจารณา นั่นเป็นคำตอบที่ว่า ถ้ายังไม่อ่านบทความนี้ อย่าเพิ่งส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์ทันที เพราะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
ตอนที่ผมเขียนนวนิยายเล่มแรกเสร็จ ไม่เคยมีใครแนะนำว่าต้องทำอย่างไร ผมแก้ไขต้นฉบับโดยไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง เมื่อส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา นั่นเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ หลายปีผ่านไปมันได้ทำให้ผมเรียนรู้กระบวนการเขียนมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีการปรับปรุงวิธีการทำงาน ทำให้งานเขียนของผมดีขึ้นเรื่อยๆ จากการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เทคนิกใหม่ๆ
แน่นอนว่าการเขียนเป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ทั้งหมด แต่สามารถเรียนรู้ได้ สิ่งที่เเกิดขึ้นอยู่เสมอก็คือ เราสามารถเก่งขึ้นได้ถ้าเรียนรู้เพิ่มเติม ดังนั้นอย่าหยุดรับสิ่งใหม่ๆ อย่าหยุดเรียนรู้ โดยนำมันมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีการทำงานของเราเอง
อะไรที่ควรทำหลังจากเขียนต้นฉบับร่างแรก
นักเขียนใหม่หลายคนกระตือรือร้นส่งต้นฉบับที่เขียนเสร็จใหม่ๆ ไปให้แมกกาซีน เขียนลงบล็อก สำหรับผู้เขียนนวนิยายลงเป็นตอนๆ บางคนส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อจัดพิมพ์เป็นเล่ม โดยแก้ไขต้นฉบับไม่ถูกวิธี นั่นรวมถึงตัวผมในอดีต ต้นฉบับร่างแรกอาจจะยอดเยี่ยมมากๆ และกลายมาเป็นหนังสือขายดีในอนาคต แต่ความจริงมีน้อยมากที่เป็นแบบนั้น
ด้วยเหตุนี้ หลังจากเขียนต้นฉบับร่างแรกเสร็จ ไม่ใช่การประกาศในหน้าโซเชียล ไม่ใช่การส่งต้นฉบับ ยังมีงานอื่นๆ รอให้ทำมากมาย นั่นคือการแก้ไขอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และขั้นตอนเหล่านั้นอาจจะใช้เวลาในการแก้ไขนานพอๆ กับเขียนร่างแรก แม้ผู้เขียนคิดว่าร่างแรกอาจจะดีอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นจริงคือการแก้ไขช่วยให้ต้นฉบับดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
ดังนั้นสิ่งที่ไม่ควรทำมีดังต่อไปนี้
อย่าส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์
ถ้าต้องการเผยแพร่หนังสือในแบบดั้งเดิม พิมพ์หนังสือเป็นเล่ม ส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์ ต้นฉบับที่เขียนร่างแรกเสร็จแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไข การส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาโดยไม่ทำอะไรกับต้นฉบับถือเป็นหายนะ ผมรู้ว่านักเขียนทุกคนทำงานหนัก และใจร้อนอยากพิมพ์หนังสือออกมาเร็วๆ หรือเผยแพร่ให้กับคนอ่านทันที แต่อย่าลืมว่าการส่งต้นฉบับไปแบบนั้นอาจถูกปฏิเสธต้นฉบับ เมื่อบรรณาธิการเริ่มพิจารณางานเขียนของเรา นั่นหมายความว่าเราอาจสูญเสียการพิจารณาที่ควรจะเป็น และบางครั้งเราอาจผิดพลาด ต้นฉบับลงถังบรรณาธิการไปอย่างถาวร
ไม่ควรส่งต้นฉบับไปให้คนอ่านที่ใกล้ชิดในทันที
คนอ่านที่ใกล้ชิดคือใคร คนที่เราไว้ใจ คนที่เราอยากให้พวกเขาอ่านเป็นคนแรก อาจเป็นเพื่อนสนิท แฟน หรือคุณยายของเรา อาจจะมีมากกว่าหนึ่งคน คนอ่านที่ใกล้ชิดจะช่วยให้เราได้รับคำติชมก่อนหนังสือจะออกเป็นเล่ม พวกเขาเป็นคนอ่านรุ่นแรกที่ได้อ่านก่อนคนอื่น พวกเขาอาจจะมีคำติชมที่ทำให้หนังสือของเราออกมาดีขึ้น เปลี่ยนต้นฉบับระดับกลางๆ ให้กลายมาเป็นยอดเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม คนอ่านที่ใกล้ชิดจะเปลี่ยนต้นฉบับของเราได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อ ผู้เขียนลงมือแก้ไขข้อบกพร่องด้วยตนเองแล้ว ผู้อ่านที่ใกล้ชิดควรจะได้อ่านต้นฉบับร่างสอง ไม่ใช่ต้นฉบับร่างแรก การส่งต้นฉบับร่างแรกให้พวกเขาในทันทีไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง บางครั้งเราอาจจะยังไม่พร้อมกับคำติชม ยิ่งนักเขียนใหม่ เพิ่งเขียนจบเป็นเรื่องแรก คำติชมอาจจะทำให้ผู้เขียนสั่นคลอน กลายเป็นความไม่มั่นใจในตัวเองไปเลยก็ได้
อย่าเพิ่งแก้ต้นฉบับ
คนส่วนใหญ่มักลงมือแก้ต้นฉบับในทันทีหลังจากเขียนร่างแรกเสร็จ พวกเขาแก้ตั้งแต่บรรทัดแรก แก้คำผิด ไวยากรณ์ คำตัดตก ขัดเกลารูปประโยคให้ดูแวววาว แต่หารู้ไม่ว่านี่คือข้อผิดพลาดครั้งใหญ่ และปัญหามากมายจะตามมา
ผมคิดว่านักเขียนทุกคน รวมทั้งผมเคยทำแบบนี้มาก่อน ข้อเท็จจริงก็คือถ้าเราเริ่มแก้ไขคำผิด บรรทัดตัดตก ขัดเกลารูปประโยค แก้ไวยากรณ์ สิ่งที่เราไม่ได้แตะต้องคือปัญหาเชิงโครงสร้างของเรื่องราว สิ่งที่สำคัญบางตอนอาจถูกตัดไปโดยไม่รู้ตัว ส่วนที่ต้องแก้ไม่ได้แก้ไข แต่ไปแก้ในจุดที่ต้องทำหลังสุด
เคราะห์ร้ายเราอาจตัดส่วนที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเขียน หรือส่วนที่กลั่นออกมาอย่างอยากลำบาก ที่แย่ไปกว่านั้นเราอาจถูกล่อลวงโดยไม่ตัดบทที่มีปัญหาออกไป เพราะผู้เขียนรู้สึกผูกพันจนมองไม่เห็นองค์รวม
แทนที่จะใช้เวลาไม่นาน แต่กลายมาเป็นเสียเวลาแก้กลับไปกลับมา เติ่มนั่นนิด ตัดนี่หน่อย แก้ไขโดยไม่มีขั้นตอนที่ถูกต้อง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ถึงเวลาที่ควรทำในสิ่งที่ถูกต้องเสียที นี่คือสิ่งที่ควรทำหลังจากเขียนร่างแรกจบ
5 ขั้นตอน หลังจากเขียนต้นฉบับเสร็จ
หลังจากอ่านสิ่งที่ไม่ควรทำแล้ว ต่อไปคือสิ่งที่ควรทำหลังจากเขียนต้นฉบับร่างแรก
1 พักต้นฉบับเมื่อเขียนเสร็จ
เมื่อเขียนต้นฉบับร่างแรกเสร็จ นอกจากผู้เขียนต้องการพักแล้ว ต้นฉบับก็เช่นเดียวกัน การใช้เวลาพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ ฉลองเล็กน้อยกับความสำเร็จ ต้นแบับร่างแรกคืองานหนัก ใช้เวลานาน (100 วัน) ปล่อยให้สมองโล่ง ไม่ต้องแตะต้องอะไรกับสิ่งที่เขียนจบ
เหตุผลก็คือ เมื่อเขียนต้นฉบับร่างแรกจบแล้ว เราจะมองไม่เห็นมุมมองใดๆ ของเรื่องที่เขียนเลย โดยเฉพาะจุดบกพร่อง ผู้เขียนยังไม่รู้ว่าส่วนไหนดี ไม่ดี ส่วนไหนควรตัดทิ้ง ส่วนใดต้องปรับปรุง ตรงไหนเขียนดีอยู่แล้ว ส่วนไหนต้องเขียนใหม่ทั้งหมด
การปล่อยให้ต้นฉบับนิ่งๆ ไปสักสองหรือสามสัปดาห์ บางคนอาจจะมากกว่านั้นคือหนึ่งเดือน จะช่วยให้ผู้เขียนกลับมาทบทวนมุมมองใหม่ๆ กับเรื่องที่เพิ่งเขียนจบลงไป จากนั้นก็เริ่มสำรวจว่าหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับอะไร กำลังพูดถึงสิ่งไหน เป็นไปอย่างที่ต้องการหรือเปล่า คล้ายๆ กับเราอ่านนวนิยายที่ชอบจบ แล้วอีกสองสามปีกลับมาอ่านใหม่ เรามักจะได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนั้น ต้นฉบับของเราก็เช่นเดียวกัน
วิธีการของผมจะปล่อยให้ต้นฉบับเป็นไปแบบนั้นโดยไม่แตะต้องอะไร อาจจะสองสามสัปดาห์ หรือจนกว่าจะรู้สึกว่าพร้อมจะกลับมาแก้ไข แต่ถ้ารู้สึกว่าการหยุดพักจะทำให้เครื่องเย็น อาจจะหาอะไรทำ เช่น เขียนเรื่องสั้น เขียนบทความลงบล็อก ไปร้านกาแฟอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ซักผ้าห่มที่นอน ต่อยอดความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับหนังสือที่เขียน
เมื่อถึงเวลา กลับมาอ่านทวนอีกครั้ง เราจะเริ่มเห็นข้อผิดพลาดมากขึ้นกว่าเดิม นั่นคือกระบวนการแก้ไขที่ดีจะเกิดขึ้นในลำดับต่อไป
2 อ่านต้นฉบับ
เน้นตัวแดง อย่าข้ามขั้นตอน
ขั้นตอนที่สองคือ “การอ่านต้นฉบับ” แค่นั้นจริงๆ อ่านตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย คนทั่วไปอาจคิดว่าเสียเวลาถ้าทำแบบนี้ แต่พวกเขาอาจจะต้องขอบคุณกับขั้นตอนการอ่าน เพราะจริงๆ มันช่วยประหยัดเวลามากกว่าเสียเวลา ตอนที่อ่านในหัวของเราจะมีมุมมองที่แตกต่างออกไปเกิดขึ้น ช่วงนี้เราพอจะมีไอเดียแล้วว่าจะต้องแก้ไขอะไรบ้าง สิ่งที่ต้องทำคือ “จดบันทึก” สิ่งที่ต้องแก้ ผมไม่แนะนำให้ใช้วิธีจำ เพราะบางครั้งเราอาจจะลืม จดบันทึกว่าต้องแก้อะไรบ้าง
- สิ่งที่ขาดหายไป
- มีอะไรพิเศษที่ต้องเพิ่มเข้ามา
- ต้องเขียนส่วนไหนขึ้นมาใหม่
- ตัดส่วนใดทิ้ง
เมื่อถึงช่วงเวลานี้ เราจะรู้เลยว่าต้นฉบับที่เพิ่งเขียนจบไปใหม่ๆ เป็นอย่างไร มันอาจดูน่ากลัวไม่น้อย และเราจะแปลกใจกับมัน สิ่งที่เราเห็นว่าสุดยอดในตอนแรก อาจกลายเป็นส่วนที่แย่ที่สุดก็เป็นได้ ผมอาจพูดเกินไปก็จริง แต่เชื่อเถอะว่าวิธีนี้จะช่วยสร้างไอเดียในการแก้ไขร่างที่สองได้มากทีเดียว
3 สานฝัน
เมื่ออ่านต้นฉบับร่างแรกจบ สิ่งที่ต้องเจอคือความประหลาดใจ เรื่องราวที่ผู้เขียนสร้างมาอย่างดีในตอนแรก อาจกลายเป็นเรื่องแย่ๆ ที่ไม่อยากเจอ สิ่งที่ฝันไม่เป็นไปตามฝัน ความจริงน่ากลัวเสมอ แต่นี่คือโอกาสที่จะแก้ไข สานฝันให้เป็นจริง และก้าวเดินต่อไป
ขั้นตอนนี้ต้องรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงต้นฉบับได้อย่างไร ใช้วิธีการไหน ต้องแก้จุดใดบ้าง
ผมชอบกระบวนการแก้ไขต้นฉบับ เพราะทำให้ผมไปต่อได้ มันช่วยให้เราสานฝัน และเปลี่ยนแปลงได้จริง
4 แก้ไข เริ่มเขียนใหม่ สำหรับโครงสร้างเรื่อง
เรามีไอเดียสำหรับแก้ไขต้นฉบับแล้ว บัทึกที่จดเอาไว้มากมายตอนอ่านทวน ได้เวลาสำหรับร่างที่สองแล้ว
ต้นฉบับร่างที่สองไม่ใช่การแก้ไขข้อผิดพลาด ไม่ใช่การขัดเกลารูปประโยค ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับจัดการโครงสร้างเรื่อง
เหมือนเขียนใหม่ทั้งหมด อุดช่องว่าง ตัดส่วนที่ไม่จำเป็น เขียนส่วนที่ไม่เข้ากันใหม่ ลำดับเวลาของเรื่องอีกครั้ง ขั้นตอนนี้ไม่ต่างจากการออกตามหาสมบัติด้วยการขุดลงไปในดินที่ลึก อาจจะใช้เวลานานเท่าๆ กับการเขียนร่างแรก
เมื่อแก้ไขโครงสร้างเสร็จแล้ว นั่นหมายความว่าต้นฉบับร่างสองได้แก้อย่างเรียบร้อย จากนั้นจึงเริ่มทำการขัดเกลาต้นฉบับอีกรอบ มันอาจจะกลายเป็นร่างที่สามหรือสี่ในอนาคต
การเขียนคือการกระทำซ้ำเพื่อให้ได้ต้นฉบับที่ดีที่สุด ซึ่งคุ้มค่าอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับร่างแรก เราจะขอบคุณความอดทนทั้งหมดที่มีอยู่
ช่วงขัดเกลาอาจจะต้องการบรรณาธิการ อย่ากลัวที่จะติดต่อบรรณาธิการเพื่อขอคำแนะนำสำหรับแนวทางพัฒนาต้นฉบับ เพราะเราไม่ควรทำงานคนเดียว
5 ขอความช่วยเหลือ
หลังจากได้ต้นฉบับร่างที่สอง ถึงเวลาที่จะเชิญคนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในหนังสือที่เขียน รวมถึงคนอ่านที่ใกล้ชิด และบรรณาธิการ อาจจะเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดี หรือจ้างบรรณาธิการมาช่วยพัฒนา
ร่างที่สองยังสามารถพัฒนาต้นฉบับได้อีก โดยอาศัยทีมงานข้างต้น แต่การมีส่วนร่วมที่มากเกินไป อาจก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกินพอดี ซึ่งมีส่วนทำให้นักเขียนสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองไปบ้างบางส่วน (หลายคนก็หลายความคิด) สิ่งที่ต้องคำนึงคือจำนวนของทีมงานต้องไม่มากจนเกินไป ขณะเดียวกันสิ่งที่พวกเขาวิจารณ์มีประโยชน์ต่อการแก้ไขร่างที่สาม พวกเขามักจับผิดในส่วนที่นักเขียนพลาดไปได้เสมอ
อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากทีมงาน นักเขียนเก่งๆ ไม่ได้ทำงานคนเดียว มีเรื่องเล่าที่ผมชอบเรื่องหนึ่งคือ
นักเขียนเก็บตัวในห้องคนเดียวนานหลายเดือนเพื่อเขียนต้นฉบับ เขาออกมาพร้อมกับงานที่เสร็จสมบูรณ์ และพร้อมส่งให้บรรณาธิการพิจารณา ต้นฉบับเรื่องนั้นได้ตีพิมพ์จนกลายเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งตลอดกาล
ข้อเท็จจริงคือนักเขียนไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่มีทีมงานช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง นักเขียนดังๆ รวมถึงนักเขียนทุกระดับใช้ทีมงานทั้งสิ้น
ในที่สุดต้นฉบับจึงเสร็จสมบูรณ์ สิ่งที่ต้องทำคือคิดว่าจะเผยแพร่หนังสืออย่างไร เช่นตีพิมพ์เป็นเล่มแบบดั้งเดิม พิมพ์เองหรือส่งสำนักพิมพ์ ฟรือจัดพิมพ์แบบ E-Book อย่างเดียวไม่พิมพ์เป็นเล่ม ผู้เขียนเริ่มตัดสินใจไปทีละขั้น หากจะส่งสำนักพิมพ์อาจจะต้องหาคอนแทคของสำนักพิมพ์ ส่งจดหมายไปสอบถาม เขียนเรื่องย่อ จากนั้นก็ส่งต้นฉบับ
ถ้าเลือกขั้นตอนจัดพิมพ์เอง หรือ E-Book ต้องหาคนทำอาร์ตเวิร์ก เนื้อใน หน้าปก บรรณาธิการ พิสูจน์อักษร โรงพิมพ์ บริษัทตัวแทนจัดจำหน่าย การตลาด ขั้นตอนเหล่านี้สามารถทำเองได้ทั้งหมด แต่มีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องมือและประสบการณ์ ถ้ากำลังมองหาคนทำหนังสือ คุณสามารถติดต่อเราได้
ข่าวดี!!!
เรามีบริการใหม่สำหรับผู้ที่เขียนต้นฉบับร่างแรกจบแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาต้นฉบับร่างที่สองอย่างไร คุณสามารถ ติดต่อเรา เพื่อร่วมกันพัฒนางานเขียนของคุณ อย่าปล่อยให้ต้นฉบับของคุณ หรืองานที่คุณเขียนกลายเป็นต้นฉบับที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี
นี่คือส่วนที่ยากที่สุด
เรามาถึงบทสุดท้ายของบทความอีกครั้ง ผมคิดเสมอว่างานเขียนเป็นเรื่องยาก ส่วนที่ยากที่สุดไม่ใช่การเขียนร่างแรก แต่คือร่างที่สอง เพราะเราสามารถก้าวพลาด หรือทำอะไรไม่ถูกต้องได้เสมอในตอนที่เขียนร่างที่สอง หากไม่มีกระบวนการที่ถูกต้อง
ความสำเร็จของการเขียนหนังสืออยู่ที่การแก้ไข และขัดเกลาต้นฉบับ สำหรับผมช่วงเวลานี้น่าสนุกที่สุด เพราะเราสามารถมองเห็นการเติบโตของเรื่องราวที่เขียน หลายคนอยากเขียนหนังสือ เป็นนักเขียน แต่มีน้อยคนที่จะทำสำเร็จ การเขียนเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก เมื่อมาถึงจุดนี้ ผมหวังว่าเราจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ สนุกกับการแก้ไขต้นฉบับ
ขอให้โชคดี!
Comments 2