โลกของวรรณกรรมในอดีต แม้จะมีนักเขียนอยู่หญิงมากมาย และมีผลงานที่โดดเด่นอยู่หลายเรื่อง แต่บางครั้งพวกเธอก็ไม่สามารถใช้ชื่อของตัวเองเป็นเจ้าของผลงานได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปวรรณกรรมเริ่มมีพื้นที่ให้นักเขียนหญิงได้ใช้เสียงของพวกเธอประกาศความจริง และตั้งคำถามกับสิ่งสังคมที่ยังกดทับพวกเธออยู่ ‘ ทำลาย, เธอกล่าว ’ จึงถือเป็นหนึ่งในผลงานที่นักเขียนหญิงเล่านั้นได้ใช้เสียงของตัวเองออกมาพูดถึงความเป็นจริงของการเป็นผู้หญิง
ทำลายเธอกล่าว หนังสือรวมผลงานเรื่องสั้น 10 เรื่อง จากนักเขียนหญิงร่วมสมัย 10 คน ได้แก่ วรรษชล ศิริจันทนันท์, สิรินารถ อินทะพันธ์, เพณิญ, ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์, ฉัตรฉวี เสนธนิสศักดิ์, ปอ เปรมสำราญ, จิราภรณ์ วิหวา, ภวิล เฟย์, ตวงพร ปฏิปทาพานิชย์ และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ที่ใช้ปลายปากกาเปล่งเสียงเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างสวยงาม และมีความแตกต่างกัน ผ่านการร้อยเรียงเรื่องสั้นเรื่องต่าง ๆ ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม หนังสือเล่มนี้ผู้อ่านจะได้รู้จักผู้หญิงจากหลายมุม ทั้งผู้หญิงที่มีความรักหรือไม่มี ผู้หญิงไม่ได้สนใจที่จะมีคนรัก ผู้หญิงที่จะตาย หรือแม้กระทั่งผู้หญิงที่ฆ่าสามีตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่านี่อาจไม่ใช่เรื่องสั้นธรรมดา แต่เป็นเหมือนกับบันทึกชีวิตของคน ๆ หนึ่ง
เรื่องราวทั้ง 10 เรื่องแม้จะมีตัวละครที่แตกต่างกันออกไป มุมมองจากภายใน หรือภายนอก แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังมีจุดร่วมที่ผูกโยงเข้าหากัน นั่นคือ การต่อต้านกรอบที่สังคมยัดเยียดผู้หญิง ผ่านการทำลายความคาดหวัง แม้คนนอกอาจจะมองว่าพวกเธอนั้นแปลกแยก แต่นั่นคือการเรียกร้องเพื่อพวกเธอเอง
หนังสือเล่มนี้คล้ายกับการเรียกคืนเสียงของพวกเธอ ผู้ถูกกดทับจากสังคม รวมถึงการตั้งคำถามกับบทบาททางเพศ และความคาดหวังของสังคมที่ไม่เคยถามว่าตัวเธออยากเป็นใคร หากจะให้ยกตัวอย่าง เรื่องสั้นที่มีชื่อว่า ‘ไม่ควรมีใครต้องตายเพราะบอกว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์’ เขียนโดย ปอ เปรมสำราญ เรื่องราวของผู้หญิงที่ไม่คิดอยากมีแฟน อาจจะนั่นเป็นเพราะการสอนอันเข้มงวดของแม่ที่ยังอยู่ในวนหัวของเธอ พอจุดหนึ่งคนอื่น ๆ คิดว่าสิ่งนี้ของเธอเป็นปัญหา การสอนของแม่นั้นยังแทรกซึมไปถึงร่างกายของเธอ เมื่อเธออยากสัก แต่สุดท้ายก็เก็บความคิดนั้นไป เธอเป็นตัวอย่างของหญิงสาวที่โตขึ้นมากับสุภาษิตสอนหญิงยอดฮิตทีมีตั้งแต่โบร่ำโบราณอย่าง ‘เป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว’ เหมือนใครหลาย ๆ คน แต่เมื่อโตขึ้นดันโดนตั้งคำถามวกวนไม่จบในวันรวมญาติว่า “เมื่อไหร่จะมีแฟน” เมื่ออ่านเรื่องนี้จบเราก็คงตั้งคำถามกลับไปว่า “ทำไมสังคมถึงมองการไม่อยากมีแฟนเป็นปัญหา” หรือไม่ก็ “ตกลงแล้วอยากให้มีแฟน หรือไม่มี” และอีกคำถามมองข้ามไปไม่ได้คือ “ร่างกายเรา ทำไมไม่ใช่ของเรา”
ยังมีเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราชอบตั้งแต่ได้อ่านครั้งแรกนั่นคือ ‘อะไรอุรา’ เขียนโดย จิราภรณ์ วิหวา เรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยหญิงสาวที่อาม่าปีนกำแพงออกไปจากบ้าน เธอทราบเรื่องหลังจากรับสายของแม่ขณะเดินทางไปที่เกาะเพื่อเก็บข้อมูลของชุมชนเล็ก ๆ เมื่อเธอถึงที่เกาะ เธอได้พักที่โฮมสเตย์ของหญิงม่ายที่ชื่อว่า อุรา คุณป้าคนนี้ชอบเล่าเรื่องของสามีที่ตายไปให้เธอฟัง จนวันหนึ่งคนในหมู่บ้านหลุดปากเรียกแกว่า ‘อุราฆ่าผัว’ และเช้าวันต่อมาป้าอุราก็เล่าในวันที่สามีแกตายให้หญิงสาวฟัง โดยบอกว่าสามีของเธอบอกว่าพอแล้ว จากนั้นก็นำเขาลงเรือตามที่สามีบอกไว้ เรื่องของป้าอุราในตอนแรกที่เราอ่านคิดว่าเป็นเรื่องของการฆาตกรรม เหมือนพวกนิยายสืบสวน แต่เมื่อมองลึกลงไป เราเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องดูแลสามีที่ป่วยอยู่บ้านคนเดียวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เธอต้องคอยพูดคุย ตอบคำถาม ถึงแม้จะเบื่อแต่ก็ต้องทำ ทำให้เราคิดว่าป้าอุราอาจอยู่ในภาวะหมดไฟในการดูแลคนป่วย จนกระทั่งความเหนื่อยของเธอนำไปถึงอาการหูแว่วคิดว่าสามีบอกให้พาเขาลงเรือไปนอกจากเราจะเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เหนื่อยล้าจากการดูแลคนป่วยแล้ว เรายังเห็นบทบาท ‘ภรรยาที่ซึ่งกำหนดโดยโครงสร้างของสังคม’ ของป้าอุรา ที่เธอจำเป็นต้องรับบทผู้ดูแลสามีที่ป่วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันซึ่งได้นำเสนอผ่านบทบาทของลูกสาว ในเรื่อง ‘ถั่งโถมเข้ามา พ่อมหาสมุทร’ เขียนโดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งตกหลุมรักผู้ชายคนหนึ่งที่นิสัยคล้ายพ่อของเธอ ไม่ว่าชายหนุ่มจะทำอะไรก็ทำให้เธอนึกถึงนิสัยของพ่อ ซึ่งทั้งหมดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เธอเกลียด เพราะนิสัยนั้นลบตัวตนของแม่เธอให้กลายเป็นภรรยาในอุดมคติของพ่อ แต่เธอก็รู้ว่าเป็นเพราะแม่รักพ่อมาก ถึงเธอจะโกรธเคืองเขาขนาดไหนเธอก็ยังต้องดูแลพ่อผู้เสียขาไป และไม่ได้ระบายความโกรธนั้นออกมา สุดท้ายเธอก็เป็นทุกอย่างที่พ่อเกลียด ทั้งการแต่งหน้าเข้ม หรือการสูบบุหรี่
ในเรื่องนี้นอกจากเราจะเห็นหน้าที่ของลูกสาวที่ต้องดูแลพ่อที่เธอเกลียดแล้ว เรายังเห็นผู้หญิงที่โตมาโดยการควบคุมของพ่อที่มีต่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก และขยับมาควบคุมการกระทำของเธอ จนเธอเริ่มต่อต้านโดยการฉีกออกจากกรอบกลายเป็นคนที่พ่อไม่ชอบ นอกจากนี้เรายังเห็นแม่ในตัวแทนของคนที่รักมากจนยอมที่จะละทิ้งตัวตนของตัวเองไป สะท้อนภาพความคาดหวังของสังคมที่เชื่อว่า “ยิ่งเสียสละ ยิ่งเป็นภรรยาที่ดี” สุดท้ายตอนที่เราอ่านเรื่องนี้จบเราเห็นว่าตัวเอกในเรื่องรักชายหนุ่มที่คล้ายพ่อเธออย่างสุดหัวใจ หลังรู้แบบนี้เราก็ได้ตั้งคำถามในใจกับตัวเองว่า “ผู้หญิงคนนี้จะเสียความเป็นตัวเองไปเพราะความรัก อย่างที่แม่เธอเสียหรือเปล่า”
หนึ่งสิ่งที่เราเห็นได้ชัดในหนังสือเล่มนี้ คือ การใช้ภาษา และโทนของแต่ละเรื่อง ซึ่งสะท้อนทั้งตัวผู้เขียน และตัวละครในแต่ละเรื่องได้อย่างดี บางเรื่องนี้มีการใช้ภาษาเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่สะเทือนใจ บางเรื่องมีความสั้น กระชับ และบางเรื่องก็มีนัยยะสำคัญให้เราได้คิดต่อเมื่ออ่านจบ ผู้อ่านแบบเรา ๆ จึงไม่ได้เสพแค่เนื้อเรื่องอย่างเดียว แต่เราได้นั่งคิดกับสิ่งที่งพวกเธอกำลังจะสื่อนั้น หมายถึงอะไรในสังคมของเรา
ไม่ใช่แค่เนื้อเรื่องเท่านั้นที่มีนัยยะแทรกอยู่ พอเราได้ลองนั่งจุ่มอยู่กับหนังสือเล่มนี้สักพักชื่อเรื่องนั้นก็เหมือนมีอะไรที่ซ่อนไว้ไม่แพ้กัน
หากเราจะลองคิดเล่น ๆ เกี่ยวกับชื่อเรื่องเราก็อยากจะยกเรื่องสั้นเรื่องเดิมมา ‘ไม่ควรมีใครต้องตายเพราะบอกว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์’ ชื่อเรื่องที่เกี่ยวกับทฤษฎีของกาลิเลโอมาตั้ง นักวิทยาศาสตร์ที่ถูกยกย่องในปัจจุบัน ตายลงด้วยคำครหาของศาสนจักรว่าเป็นพวกนอกรีตที่แปลกแยก การตั้งชื่อเรื่องนี้คงแหมือนกับการชูความแปลกแยกที่โดนทำร้ายขึ้นมา หากไม่ควรมีใครต้องตายเพราะบอกว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ก็คล้ายจะสื่อว่า ‘ไม่มีใครควรโดนทำร้ายเพียงเพราะเห็นต่างจากคนอื่น’
จากเรื่องสั้นทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้เราได้เห็นว่าการเรียกร้องนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เสียงที่ดัง แต่อาจเป็นความเงียบ แต่คมลึก หรืออาจจะเป็นการตั้งคำถามเพื่อเรียกคืนสิทธิ์ทั้งด้านความคิด ร่างกาย และชีวิตก็ได้
นอกจากทั้ง 3 เรื่องที่เราแนะนำนั้นยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่ละเรื่องก็มีเสน่ห์เฉพาะตัว และพาเรามองโลกผ่านสายตาของผู้หญิงในหลากหลายมิติ และถ้าจะถามเราว่าตอนได้อ่านหนังสือเล่มนี้รู้สึกยังไงบ้าง ก็คงตอบได้ว่าทั้งหมดนี้ก็มีหลายประเด็นที่แตะใจเราอยู่ไม่น้อย อันที่จริงเราเคยอ่านงานแนวนี้ของต่างประเทศมาบ้างแล้ว แต่เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านงานของไทย พอได้อ่านแล้วบวกขนบธรรมเนียมของไทยที่เราเข้าใจ และใช้ชีวิตอยู่ ยิ่งทำให้เราได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคาดหวังทางสังคมที่ต้องการให้ผู้หญิงเป็น และได้เห็นความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชัดยิ่งขึ้นอีกด้วย