หลาย ๆ คนคงจะรู้จักเรื่องราวของเหล่ากรีก – โรมันตามตำนานปกรณัมกรีก หนึ่งในผลงานสำคัญที่รวมรวบเรื่องราวเหล่านี้ คือ Metamorphoses ของกวีโรมัน Ovid ตำนานที่ว่าด้วยการสร้าง และประวัติศาสตร์โลกของกรีก – โรมัน รวมถึงเรื่องราวของ เมดูซ่า (Medusa) ปีศาจที่มีผมเป็นงู ความร้ายของเมดูซ่าถูกเล่าต่อกันมาว่า หากใครมองตาของเธอ คน ๆ นั้นจะกลายเป็นหิน แม้เธอจะถูกจดจำในฐานะตัวร้ายจากตำนานปรัมปรา แต่อีกมุมหนึ่ง เธอยังเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อในความไม่ยุติธรรม และความรุนแรงในสังคมชายเป็นใหญ่อีกด้วย
Head of Medusa โดย Peter Paul Rubens
เมดูซ่า ปีศาจที่มีผมเป็นงู เดิมทีเธอไม่ได้เป็นปีศาจ แต่เป็นหญิงสาวหญิงถือพรหมจรรย์ที่รับใช้อยู่ในวิหารของอะธีนา เพราะเมดูซ่านั้นมีหน้าตางดงาม ผมยาวสลวย ทำให้เธอเป็นที่หมายปองของใครหลาย ๆ คน แน่นอนว่าความสวยของเธอนั้นก็ทำให้หลายคนอิจฉาอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ อะธีน่า (Athena) เทพีแห่งสงคราม และสติปัญญา
วันหนึ่งโพไซดอนได้เดินทางมาที่วิหารของอะธีนา และได้พบกับเมดูซ่า เพราะความงามของเธอจึงทำให้โพไซดอน (Poseidon) เกิดหลงรักเธอขึ้นมา และได้ใช้กำลังล่วงละเมิดเธอในวิหาร เมื่ออะธีน่ารู้เข้าแทนที่จะปกป้องเมดูซ่า เธอกลับกล่าวว่าเมดูซ่าลบหลู่เธอในวิหาร และได้สาปให้เธอมีหน้าตาน่ากลัว ผมที่เคยสวยก็เปลี่ยนให้กลายเป็นงู เท่านั้นไม่พอ อะธีน่ายังสาปให้เธอมีอำนาจเมื่อสบตาใครคน ๆ นั้นจะกลายเป็นหิน เพราะความอยุติธรรมที่เธอได้รับ ทำให้เธอมีจิตใจที่โกรธแค้น เกลียดชัง พร้อมสาปทุกคนที่เข้าล่วงล้ำพื้นที่ของเธอให้กลายเป็นหิน แต่แล้วเพอซีอุส (Perseus) บุตรชายของซุส (Zeus) ก็ได้บั่นคอของเมดูซ่าจนเพื่อนำไปถวายให้แก่อะธีน่า ทว่าการตายของเมดูซ่านั้นแท้จริงเป็นแผนของอะธีน่าที่อยากจะกำจัดนาง แต่เพราะเป็นเทพีจึงไม่อยากลงมือเอง
Perseus with the Head of Medusa โดย Benvenuto Cellini
จากเรื่องราวทั้งหมด เห็นได้ว่าแท้จริงแล้วเมดูซ่านั้นไม่ใช่ปีศาจที่ชั่วร้ายเลยด้วยซ้ำ หลังจากถูกสาปเธอได้ไปอาศัยอยู่ในถ้ำที่ห่างไกลผู้คนกับพี่น้องอีก 2 ตน แต่ผู้คนกลับนำเธอมาเป็นภารกิจที่ต้องพิชิต จนทำให้เธอได้ใช้คำสาปนั้นมาเป็นป้องกันตัวเองเมื่อมีคนมาลุกล้ำพื้นที่ที่อาศัยอยู่ เท่านั้นไม่พอ หลังจากที่เพอซีอุสตัดหัวของเมดูซ่า เขาก็ได้นำหัวของเธอมาเป็นอาวุธป้องกันตัว และสุดท้ายหัวของเมดูซ่าก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะอยู่บนโล่ของเพอซีอุส
ตำนานปรัมปราเรื่องนี้ไม่เพียงถ่ายทอดเรื่องราวของเมดูซ่าเท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นถึงระบบชายเป็นใหญ่ในสังคมกรีก-โรมันยุคนั้นอย่างชัดเจน เมดูซ่าในฐานะเหยื่อถูกสร้างภาพให้เป็นปีศาจผู้ล่อลวง มีเสน่ห์อันตราย และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายที่ควรถูกกำจัด เพื่อเชิดชูวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ เรื่องราวนี้จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมที่กล่าวโทษเหยื่อ (victim blaming) อย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่นั้น แม้เรื่องราวของเธอจะโด่งดัง แต่เธอนั้นไม่ใช่ตัวละครหลักของเรื่องเล่า เรื่องของเธอเล่าผ่านมุมมองของเพอซีอุส เพื่อใช้เน้นย้ำความกล้าหาญของเขา และเป็นเพียงฉากหนึ่งในการกำเนิดเพกาซัส ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำระบอบชายเป็นใหญ่ เมื่อผู้หญิงเช่นเมดูซ่าได้รับมักถูกลดทอนให้เป็นเพียงเครื่องมือประกอบบทบาทของวีรบุรุษ แทนที่จะได้รับการเล่าเรื่องในฐานะผู้ที่มีตัวตน และผ่านเสียงของตัวเอง
เรื่องราวของเมดูซ่านั้นยังถูกดัดแปลง และเผยแพร่อยู่มากมาย เช่น Clash of The Titans, Percy Jackson & The Olympian : The Lighting of Thief, Blood of Zeus หรือ Medusa : Beauty is The Beast แม้บทบาทของเมดูซ่าที่นำมาดัดแปลงนั้นดูจะมีความเป็นคนมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในบทบาทสตรีชั่วร้ายที่ควรถูกกำจัดเอาไว้ โดยที่มองข้ามเบื้องหลังของเธอ
เมดูซ่านั้นแม้จะเป็นปีศาจที่โหดร้าย แต่ดูเหมือนว่าความอยุติธรรมที่เธอเจอนั้นจะโหดร้ายมากกว่าเสียอีก เธอคือตัวอย่างของผู้หญิงที่ถูกพรากเสียง จนกลายเป็นความแค้นเคือง จนเอาคำสาปที่ได้รับมาเพื่อปกป้องตัวเองคล้ายกับกลไกการป้องกันตัวเอง ทำให้เริ่มมีความเห็นจากหลายกลุ่มที่เริ่มนำเรื่องของเธอมาทำเป็นงานวิจัย หรือนำมาถกกัน โดยเฉพาะกลุ่มสตรีนิยม (Feminism) ที่เห็นมองว่าเธอไม่ใช่ปีศาจที่น่ากลัว แต่เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่ถูกกดขี่ในสังคม จึงได้นำตัวละครของเมดูซ่ามาตีความใหม่ เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับเธอ
Medusa with the Head of Perseus โดย Luciano Garbati
นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะหลายอย่างที่เกี่ยวกับเมดูซ่า แต่ที่น่าสนใจที่สุดคืองานของนักประติมากรรมที่ทีชื่อว่า ลูเซียโน การ์บาตี( Luciano Garbati) ในปีค.ศ. 2008 เขาได้นำเมดูซ่ามาเป็นแรงบันดาลใจในงานปั้น และได้สร้างรูปปั้นชื่อว่า Medusa with the Head of Perseus ซึ่งเป็นรูปปั้นที่เมดูซ่าถือดาบ และหัวของเพอร์ซีอุสไว้ ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นการพลิกบทบาทระหว่างเมดูซ่ากับเพอซีอุส เพื่อสะท้อนปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และแสดงให้เห็นถึงเมดูซ่าในฐานะสัญลักษณ์ของความยุติธรรม และการทวงคืนอำนาจในแก่ผู้ถูกกระทำ
เห็นได้ว่าเรื่องราวของเมดูซ่านั้นเป็นมากกว่าตำนานปรัมปรา เพราะไม่เพียงแค่สะท้อนให้เห็นความเชื่อ แนวคิดของคนยุคนั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ให้คนในยุคปัจจุบันตั้งคำถาม ตีความในหลาย ๆ แง่มุม ทั้งด้านศิลปะ หรือสังคม เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เรียกร้องคืนอำนาจ และการตั้งคำถามต่อความยุติธรรมในสังคมที่กดทับเสียงของผู้ถูกกระทำ นั่นจึงทำให้เรื่องราวของเธอเป็นที่น่าจดจำ และถูกพูดถึงตลอดมา