Table of Contents
นักเล่นเครื่องเสียงรุ่นใหม่มักมีคำถามมาเสมอว่า วิธีเลือกลำโพง อย่างไรให้เข้ากับแนวทางการฟังเพลง หรือลำโพงแบบไหนที่เราจะชอบ (ในขณะเวลานั้น) อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องเหล่านี้มิได้เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน แม้ว่าแนวทางของเสียงจะเป็นนามธรรมที่ผู้เขียนจะกลั่นออกมาเป็นรูปธรรมในแบบตัวอักษรได้ยากมากๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าใจกับแนวทางการเลือก เพื่อไม่ให้เสียเวลาผู้เขียนขอนำเสนอ 4 ทางเลือกที่ผู้อ่านจะนำไปปฏิบัติเพื่อการเลือกซื้อลำโพงตัวใหม่ได้อย่างถูกใจ
1. ขนาดห้องฟัง
ถ้าเราเริ่มต้นที่จะเรียนรู้กับสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องทราบเสมอว่าไม่มีลำโพงใดในโลกนี้ผลิตขึ้นมาเพื่อทุกคน หรือเพื่อทุกขนาดของห้อง ข้อสำคัญนี้มีความหมายอยู่ในตัวคำถาม เพราะไม่ว่าเราอยากได้ลำโพงยี่ห้อนั้น ขนาดนั้น หรือรุ่นนั้นๆ ก็มิได้หมายความว่าลำโพงดังกล่าวจะเหมาะกับเราหรือห้องฟังเพลงของเราเสมอไป ยกเว้นว่าเราอยากได้มากๆ ค่อยมาหาทางทำให้รีดศักยภาพของลำโพงเหล่านั้นออกมา
ผู้เขียนให้ความสำคัญต่อขนาดห้องเป็นลำดับแรก เพราะเป็นการแมทชิ่งลำดับต้นที่ไม่สามารถแแก้ไขอะไรได้นั่นเอง เพราะถ้าหากเลือกผิิดตั้งแต่แรก ต่อให้หาองค์ประกอบอื่นๆ มาสมทบเช่นแอมป์ เครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นแผ่นเสียง สายสัญญาณ สายลำโพง รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆ ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้ฟังได้
ในบทความนี้ผู้เขียนขอเน้นลำโพงในแบบสองชาแนลเป็นหลัก รูปแบบลำโพงที่นิยมในปัจจุบันมีสองแบบหลักๆ ก็คือ ลำโพงวางหิ้ง กับลำโพงตั้งพื้น ซึ่งในรูปแบบลำโพงดังกล่าวก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปอย่างเช่น การออกแบบทั้งภายในและภายนอก วัสดุที่ใช้ ซึ่งจะยกไปพูดถึงในตอนถัดๆ ไป
ขนาดลำโพงกับห้องฟังมีความสัมพันธ์ต่อการเซ็ตติงชุดเครื่องเสียง ลำโพงเป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้ามาเป็นพลังงาน ดังนั้นบุคลิกของลำโพงแต่ละยี่ห้อ แต่ละรูปแบบจึงสร้างสไตล์ดนตรีที่ไม่เหมือนกัน การเริ่มต้นเลือกลำโพง จึงเป็นจุดสำคัญจุดแรก เป็นการเลือกเพื่อความชอบของแนวดนตรี ความชอบตามรสนิยมผู้ฟัง
ลำโพงแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่น ให้เสียงที่แตกต่าง บางตัวให้ความนุ่มนวลชวนฟัง ออกแนววินเทจฟังได้นาน บางตัวให้ความคมชัด แยกแยะชิ้นดนตรีได้โดดเด่น บางคู่ให้เสียงไม่ต่างการแสดงสด เวทีเสียงกว้างไกลมิติลึก บางตัวชอบแนวเพลงร็อค พ๊อพ บางคู่ชอบคลาสสิกวงใหญ่ บางตัวแนวแจ๊ส โฟล์ค ความแตกต่างเหล่านี้ผู้ฟังจำเป็นที่ต้องศึกษาและเลือกตามที่เราชื่นชอบ ซึ่งลำโพงจะแสดงบุคลิกของดนตรีในแบบต่างๆ ตามที่ผู้ผลิตต้องการออกแบบ
แน่นอนว่าลำโพงขนาดเล็กย่อมเหมาะกับขนาดห้องที่ไม่ใหญ่จนเกินไป หรืออยู่ในขนาดระหว่าง 12-20 ตารางเมตร ส่วนตัวเลือกอื่นๆ ที่ตามมาห้องฟังเพลงอาจจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก หรือจัดเป็นห้องฟังเพลงโดยเฉพาะไม่ว่ากัน ขึ้นอยู่กับการจัดสรรพื้นที่ภายในบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ส่วนใหญ่แล้วจะอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมซึ่งมีพื้นที่ใช้งานไม่มากนัก ดังนั้นขนาดของห้องจึงมีความจำเป็นลำดับแรกๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนห้องฟังที่มีขนาดใหญ่ คือใหญ่กว่า 20 ตารางเมตรขึ้นไป ลำโพงตั้งพื้นก็เป็นตัวเลือกแรกๆ แต่กระนั้นหลายคนอาจจะบอกว่าห้องฟังที่ใหญ่สามารถใช้ลำโพงวางหิ้งก็ได้ ซึ่งถูกต้องครับ ขนาดห้องที่ใหญ่ได้เปรียบกว่าขนาดห้องเล็ก จึงทำให้เลือกใช้ลำโพงได้หลากหลายมากขึ้น ยิ่งเป็นห้องฟังที่ออกแบบมาสำหรับฟังเพลงโดยเฉพาะ ก็ยิ่งเลือกลำโพงได้หลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย
แต่กระนั้นลำโพงขนาดเล็ก ก็อาจจะไม่ตอบสนองในเรื่องขนาดเวที เมื่อมาใช้กับห้องฟังขนาดใหญ่ แม้ลำโพงหลายยี่ห้อจะนำเสนอว่าตัวเองสามารถกระจายความถี่ได้สมบูรณ์ในทุกย่าน ตั้งแต่ เบส กลาง สูง ก็ตาม
หรือลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ มาใช้กับห้องขนาดเล็ก ความสมดุลย์ของเสียงดนตรีอาจจะสูญเสียไปกับการกระจายเสียงของห้องที่ทำออกมาไม่ดี หรือไม่สามารถรองรับกับขนาด System มโหฬาร
2. งบประมาณ
ทำไมงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญในลำดับถัดมา เพราะมันทำให้เรารู้ว่าจะซื้อรุ่นไหน การตั้งงบไว้แต่ต้นจะทำให้คุณได้เครื่องเสียงที่ถูกใจมากกว่า ไม่ว่างบนั้นจะถูกแพงเพียงไร การตั้งงบตั้งแต่ต้นช่วยเราได้ โดยเฉพาะกับตัวลำโพง บางทีคุณอาจจะเผื่องบสำหรับแอมป์ เครื่องเล่นสตรีม เครื่องเล่นแผ่นเสียง สายสัญญาณ และสายลำโพงไปด้วยก็ได้ มิเช่นนั้นถ้าไม่ทำแบบนี้งบที่บานปลายอาจทำให้คุณไม่มีความสุขสำหรับกระเป๋าเงินและเงินเดือนทั้งเดือนที่อาจจะทอดยาวไปอีกสิบเดือนสำหรับการผ่อน
การตั้งงบประมาณจะทำให้เวลาไปฟังชุดเครื่องเสียงที่ร้าน ฟังเพลงบ้านเพื่อน ชุดเหล่านั้นอลังการ หรือชุดย่อมเยาว์ แค่ไหนก็จะไม่ทำให้งบบานปลายไปได้ แม้เสียงที่ได้ยินจากเครื่องเสียงจะแตกต่างกัน บางครั้งคุณก็ชอบมันมาก บางครั้งคุณก็พบจุดที่โอ้โห ทำไมเครื่องเสียงของเราถึงไม่ดีเหมือนคนอื่น กลับมาฟังเสียงลำโพงของตัวเอง ทั้งแห้ง ทั้งขาดไดนามิก เวทีเสียงไม่ต้องพูดถึง พยายามหาอุปกรณ์เสริมมาตกแต่ง จัดวางลำโพงตามสุตรต่างๆ มากมาย เสร็จสิ้นแล้วก็มีความคิดจะเปลี่ยนลำโพง ดีไหม เปลี่ยนแอมป์หลอด เปลี่ยนแอมป์ดิจิตอล เปลี่ยนสายลำโพง เปลี่ยนเป็นยี่ห้อนั้นดีไหม สัญชาตินั้นเวิร์กไหม ตัวไหนได้รางวัลมาบ้าง หรือเอาที่แพงที่สุดในตลาดไปเลย จะได้จบๆ ความคิดเหล่านี้ทำให้งบบานปลาย
นี่คือความทุกข์ยากของนักฟังเพลงทั้งใหม่และเก่า ยิ่งไปตามเวบบอร์ดเครื่องเสียง บางคนถอยตัวใหม่ขายตัวเก่า ฟังไม่ถึงสามเดือนก็ต้องเปลี่ยน เพราะเสียงไม่แมตกันบ้าง ลำโพงขับยากบ้าง แนวเสียงไม่ได้อย่างต้องการ บางคนขายขาดทุน บางคนอยากเอามันไปให้พ้นๆ จะได้ลิ้มลองตัวใหม่ เปลี่ยนไปกี่รอบก็ยังไม่ได้ลำโพงที่ถูกใจ ยิ่งอ่านไปยิ่งละเหี่ยใจใช่ไหมครับ ผู้เขียนเองก็เคยอยู่ในวังวนแบบนี้มาก่อนในช่วงที่เล่นเครื่องเสียงใหม่ๆ และหลายคนก็คงต้องเป็นแบบนี้เพื่อจ่ายราคาบทเรียนของตัวเอง แต่การจ่ายเงินค่าบทเรียนในราคาสูงแล้วไม่พบทางออก อาจจะเป็นความสนุกในการค้นหาซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่ความเบื่อหน่ายได้ แต่อย่าลืมว่าการเล่นเครื่องเสียงนั้น สิ่งที่เราได้มาคือความสุขในการฟังเพลง ฟังเสียงวงดนตรีโปรดของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่เบื่อ หรือเราจะค้นหาดนตรีใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่ความหฤหรรษ์ในรสดนตรีนั่นเอง
หลายคนที่เริ่มต้นเล่นเครื่องเสียงมักถามผู้เขียนว่าจะเริ่มต้นอย่างไร บางท่านก็มักจะตั้งงบประมาณขึ้นมาว่าจะจ่ายได้เท่าไหร่ มือใหม่การเริ่มต้นอาจจะยาก ถ้ามือเก่าพอมีเครื่องเล่น มีแอมป์อยู่บ้างก็พอเบาใจ แม้เรื่องงบประมาณการจัดชุดจะเป็นอะไรที่สำคัญที่สุดสำหรับการเริ่มต้น
3. แนวเพลงที่ฟัง
ทำไมแนวเพลงที่ฟังจึงสำคัญต่อการเลือกลำโพง
คำตอบคือเราฟังเพลงแบบไหน เราสามารถเลือกลำโพงหรือซิสเต็มที่ต้องการได้ง่าย
ต้องเริ่มสำรวจตัวเราว่า ชอบเพลงในแนวทางไหน ข้อนี้คือความสำคัญลำดับต้นๆ เลยทีเดียว และจะเป็นแนวทางที่ทำให้การเล่นเครื่องเสียงไม่หลงแนวทาง ในระยะยาวจะทำให้ตัวเราไม่พลาดในการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ จนบางครั้งอาจจะจบที่เครื่องเสียงชุดแรกไปหลายปีโดยไม่ต้องเปลี่ยน แล้วหันไปเล่นหรือสะสมแผ่นเสียงหายาก หรืออุปกรณ์เสริม สายลำโพง สายสัญญาณที่หลากหลาย สายไฟ แทนการเปลี่ยนเครื่องทีละตัว
ลำโพงแต่ละยี่ห้อมีบุคลิก และคุณลักษณะการผลิตที่แตกต่างกัน สัญชาติผู้ออกแบบก็เป็นอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงปรัชญาในการออกแบบ เช่นฝั่งอเมริกา ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องเทคนิค ความเที่ยงตรง และเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่วนฝั่งยุโรป จะเน้นปรัชาทางศิลปะ ผสมผสานเทคโนโลยี เช่นการออกแบบตัวตู้ การออกแบบแนวเสียงต่อแนวทางดนตรี ผู้ออกแบบแต่ละเจ้ามีแนวคิดที่แตกต่างกัน แม้จะยืนอยู่บนมาตรฐานเดียวกันก็ตาม ในการเลือกผู้ออกแบบ เลือกยี่ห้อ จึงมีผลต่อแนวทางการฟังเพลงอย่างไม่ต้องสงสัย
สิ่งที่ผู้อ่านจำเป็นต้องตอบคำถามของตนเองได้ก่อนว่า เราชอบฟังเพลงอะไร เพลงอะไรที่ฟังบ่อย เพราะนี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่เราไม่สามารถหลอกตัวเองได้ แม้บางครั้งเราจะหลงทางไปกับสเป็ค รางวัล หรือ ความนิยมของผู้เล่นคนอื่นๆ ทว่าสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นคำตอบที่ชัดแจ้งที่สุด
แม้ทุกยี่ห้อจะบอกว่าพวกเขาผลิตลำโพงเพื่อทุกแนวเสียงก็ตาม เช่น การตอบสนองความถี่ ต่างเคลมว่าสามารถตอบสนองในทุกย่านเสียง รวมถึงกำลังขับต่างๆ ทางตัวเลขที่สวยงามถูกนำมาโชว์อย่างสมบูรณ์แบบจากการทดสอบในห้องแล็ป
สิ่งหนึ่งที่พึงทราบคือ การตอบสนองในทุกย่านเสียงก็จริง แต่สำหรับดนตรีในแต่ละแนว ย่านเสียงต่างๆ ก็แตกต่างกันออกไป แม้โดยรวมการตอบสนองในย่านเสียงกลางจะมีผลต่อความไพเราะของดนตรีมากที่สุด เพราะเครื่องดนตตรีหลัก หรือเสียงร้องมักอยู่ในย่านเสียงกลาง แต่กระนั้นเสียงจากเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่นกลอง เบส หรือเสียงเพอร์คัสชั่น ก็มีส่วนต่อการเสริมแต่งให้เพลงนั้นๆ ไพเราะมากขึ้น
แนวเพลงพ๊อพทั่วไปจะเลือกอย่างไร แนวเพลงพ๊อพ หรือ standard อาจจะต้องการลำโพงที่มีความเป็นกลาง สไตล์ค่อนข้างราบเรียบ ไม่เน้นเสียงที่มีสีสันมากเกินไป เน้นเสียงกลางที่โฟกัสอย่างตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันก็ให้เสียงประกอบอื่นๆ มีส่วนทำให้ไพเราะ เช่นเสียงเบสที่มีความกระจ่าง ลึก ไม่ต้องเก็บตัวนาน บางจังหวะดนตรีที่เป็น อิเล็คโทนิคพ๊อพ อาจจะต้องการความลึกของเสียงเบสที่ dub ให้เกิดจังหวะที่สร้างความคึกคัก
ผู้เขียนคิดว่าลำโพงที่มีความราบเรียบนั้นเหมาะกับการฟังเพลงในแบบสแตนด์ดาด ไม่เน้นแนวทางใดทางหนึ่ง เป็นลำโพงที่ฟังง่าย บางท่านที่เป็นออดิโอไฟล์อาจจะคิดว่าลำโพงแบบนี้ธรรมดาเกินไป แต่สำหรับผู้เขียนคิดว่าผู้เล่นที่ฟังเพลงหลากหลายแนว ลำโพงแนวดังกล่าวเหมาะกับเพลงที่ฟังได้หลากหลาย ฟังสบาย และจะไม่เบื่อเสียงกลางที่สะอาดเรียบแต่กระจ่างชัด เช่นลำโพง Whaffadel
ในแนวทางดนตรีอื่นเช่นร็อค หรือ แนวทางอิเลคโทรนิค ที่เน้นเสียงเบส เสียงสังเคราะห์ รูปแบบลำโพงก็ต้องตอบสนองในย่านเสียงเบสที่สามารถลงลึก เสียงแหลมที่แยกแยะย่านเสียงสูงได้หลากหลาย และไม่ทำให้การฟังล้าจนเกินไป เช่นลำโพง JBL, Harman Kardon
แนวทางเพลงแจ๊ซ และคลาสสิกก็เช่นกัน ลำโพงต้องการความเป็นอคูสติกสูง เพราะเครื่องดนตรีส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่เกิดจากตัวเครื่องดนตรีไม่ผ่านการใช้เอฟเฟค แม้ดนตรีคลาสสิกอาจจะต้องการเวทีเสียงที่ใหญ่ แต่กรณีฟังเพลง Chamber ซึ่งมีเครื่องดนตรีไม่มากชิ้นเช่นเดียวกับวงแจ๊ซ เช่นลำโพง B&W, Vienna Acustic
4. แมตชิ่ง
เรามาถึงหัวข้อสุดท้ายกันแล้ว
ลำโพงเสียงดี หรือไม่ แมตชิ่งคือสิ่งที่สำคัญที่สุด อาจจะสำคัญไม่ต่างจากงบประมาณ บางครั้งไปฟังลำโพงราคาย่อมเยาว์กลับให้เสียงดีกว่าลำโพงหลักแสนหลักล้าน ฉะนั้นถ้าเริ่มจากก้าวแรกที่ผู้เขียนแนะนำ นอกจากจะได้ซิสเต็มที่ดีแล้วยังจ่ายเงินในราคาที่สมเหตุสมผล การแมตชิ่งจะยิ่งทำให้ลำโพงของคุณคุ้มค่าที่จ่ายไป และรีดเค้นประสิทธิภาพออกมาได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เราจะสังเกตได้ว่าห้างร้านนั้นมักจะทำโปรโมชัน แมตช์แอมป์ ลำโพง รวมถึงเครื่องเล่นมาให้เป็นชุด ซึ่งแน่นอนว่าลดลงถูกกระเป๋า บางร้านแมตช์กันด้วยเครือข่ายยี่ห้อเดียวกัน บางร้านแมตช์ด้วยส่วนลดของยี่ห้อ การแมตช์แบบนี้ บางทีอาจจะไม่ได้เสียงอย่างที่ต้องการก็มี ซึ่งก็ต้องว่ากันไปเป็นจุดๆ ว่าการเริ่มต้นของเรานั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณมากน้อยเพียงไร บางชุดเน้นแอมป์ตัวลำโพงจึงแมทชิ่งมาแบบกลางๆ จนถึงต่ำ หรือใช้รุ่นเล็กราคาประหยัด
แต่กระนั้นก็ต้องเข้าใจว่า เครื่องเสียงบางครั้งนั้นเรียกร้องแมตชิ่งระหว่างตัวเครื่องเล่นกับผู้ฟัง สิ่งที่ง่ายที่จะเลือกเครื่องเสียงนั้น ผู้เขียนยังย้ำหนักแน่นว่า เราฟังเพลงแบบไหน ชอบเพลงแบบใด นั่นคือแนวทางแรกที่ต้องจับให้ได้
5. บทสรุป 4 วิธีเลือกลำโพง
เราไม่ได้ฟังเพลงจากพวกแผ่นทดสอบเครื่องเสียง ถ้าคุณชอบฟังเพลงจากแผ่นทดสอบเสียง นั่นเท่ากับว่าคุณอาจจะชอบฟังเสียงจากเครื่อง ดังนั้นแนวทางในการเล่นก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าคุณเป็นนักฟังเพลง เรามาค้นหาเครื่องเสียงที่จะทำให้เราฟังเพลงได้อย่างมีความสุขกัน เริ่มจาก เพลงที่เราชอบฟัง เพลงไทยร่วมสมัย เพลงพ๊อพ เพลงแจ๊ซ เพลงร็อค เพลงคลาสสิก หรือฟังเพลงแบบเรื่อยๆ เปิดวิทยุ หรือ สตรีมเรดิโอ นั่นย่อมต้องหาให้พบ ถ้าพบแล้วคุณจะจับทิศทางการเล่นเครื่องเสียงได้ง่ายขึ้น