เปิดม่าน
องก์ 1 : ว่าด้วยเรื่องการอ่านบทละคร
บทละคร (Play) นับว่าเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการแสดง นอกจากจะอ่านเพื่อท่องบทไปแสดงละครแล้ว เรายังสามารถนำ การอ่านบทละครอย่างไร เพื่อความบันเทิงได้ด้วย
การนำบทละครมาอ่านเพื่อความบันเทิงแทบไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยเลย เพราะบทละครที่ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มหนังสือคือสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคย หรือเรียกได้ว่าบางคนอาจไม่เคยเห็นเลยด้วยซ้ำ ถ้าจะมีให้เห็นก็คงต้องย้อนเวลากลับไปพอสมควร
อย่างที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นการนำบทละครโทรทัศน์มาปรับให้มีลักษณะเป็นบทสนทนาที่มีคำบรรยายเสริม และตีพิมพ์ลงคอลัมน์หนึ่งของหนังสือพิมพ์เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ซึ่งบทละครลักษณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก จากผู้ชมที่อยากรู้ตอนต่อไปของละคร
หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้นก็คงนึกถึง บทละครเรื่องโรเมโอและจูเลียต ของ เชคสเปียร์ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ทรงแปลและจัดพิมพ์ เป็นการแปลโดยคงรูปแบบเดิมของบทละครจากยุโรป เป็นบทละครที่มีลักษณะเป็นสคริปต์ (Script) บทสนทนา บทพูดโต้ตอบของตัวละคร โดยจะมีข้อความกำกับ รายชื่อตัวละคร องก์ และฉากเอาไว้
ต่างจากลักษณะของบทละครที่เด็กไทยเห็นเป็นประจำอย่าง กลอนบทละคร ที่แต่งเพื่อใช้ในการแสดงโขน ละครนอก ละครใน ชื่อที่คุ้นหูก็คงหนีไม่พ้นบทละครเรื่องรามเกียรติ์ แต่อย่างที่บอก คนไทยมักรู้จักบทละครในแง่ของวรรณคดีหรือวรรณกรรมการแสดง แทนที่จะเป็นวรรณกรรมที่อ่านเอาสนุกหรืออ่านเล่นฆ่าเวลา
แน่นอนว่าเหล่านักแสดงหรือผู้คนที่อยู่เบื้องหลังฉากละครจำเป็นต้องอ่านบทละครเพื่อใช้ในการทำงาน คนเหล่านี้ก็จะคุ้นชิ้นกับการอ่านบทละครกันเป็นปกติ แต่ผู้อ่านทั่วไปที่ชอบอ่านหนังสือกลับไม่ค่อยได้สัมผัสหรือทำความรู้จักกับการอ่านบทละครเท่าที่ควร หลายคนคงคิดภาพไปว่าบทละครเป็นงานที่เอาไว้ใช้สำหรับแสดงเท่านั้น
แต่ความจริงแล้วบทละครเนี่ยแหละ ถือเป็นหนังสือบันเทิงคดีชั้นยอดประเภทหนึ่งทีเดียว เพราะอิงจากวัฒนธรรมของฝรั่ง พวกเขาอ่านบทละครกันเป็นปกติเลยล่ะ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอ่านเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการแสดง แต่หมายถึงการอ่านบทละครในแง่ของหนังสืออ่านเล่นหรือหนังสือที่อ่านเพื่อความบันเทิงต่างหาก
ดังนั้น บทความนี้จะพาทุกคนไปเปิดโลกการอ่านบทละคร ทำความรู้จักอีกหนึ่งความสนุกแห่งการอ่านวรรณกรรม
องก์ 2 : ความเพลิดเพลินที่ซุกซ่อนอยู่หลังเวที
หากคุณคิดว่าการนั่งดูละครนั้นมันสนุกแล้ว,
เราขอบอกเลยว่าการอ่านบทละครก็ทำให้คุณรู้สึกสนุกได้ไม่แพ้กัน
จากประสบการณ์ของเรา ครั้งแรกที่ได้ลองอ่านบทละครมันเป็นความรู้สึกที่งงมาก เพราะเปิดมาเจอเพียงแค่คำกำกับบอก “ฉาก-สถานที่” และ “ตัวละครที่เข้าฉาก” เท่านั้น จากนั้นก็ตามด้วยบทสนทนาที่ตัวละครโต้ตอบกันไปมา โดยมีชื่อตัวละครอยู่หน้าข้อความเพื่อบอกว่าเป็นบทพูดของใคร
ไม่มีการบรรยายองค์ประกอบฉาก ไม่มีการบรรยายบรรยากาศรอบข้าง ไม่มีการบรรยายสีหน้าท่าทาง ไม่มีการบรรยายความคิดของตัวละครให้เราได้รู้ เนื้อเรื่องดำเนินไปได้ด้วยการสนทนาของตัวละครอย่างเดียวเท่านั้น
แต่พอค่อยๆ เรียนรู้มันไป ถึงได้สัมผัสกับความสนุกที่แม้แต่เราเองก็ยังนึกไม่ถึงเลยว่ามันจะสนุกได้ด้วย (ฮ่าๆ)
เราคิดว่าการอ่านบทละครมันต้องใช้พลังจินตนาการมากกว่าการอ่านนวนิยายเยอะเลย
ตรงที่เวลาอ่านนวนิยายเราจะรู้สึกเหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ในโลกที่นักเขียนสร้างมันขึ้นมา เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกที่ตัวละครอาศัยอยู่ จินตนาการว่าเราเป็นตัวเอกหรือคนที่คอยเฝ้ามองความคิดและการกระทำของตัวละครตามมุมมอง (POV) ที่นักเขียนใช้ในการบรรยาย สีหน้าแววตา ท่าทาง สถานที่รอบข้าง สิ่งที่ตัวละครเห็น นักเขียนได้พรรณนาทั้งหมดนั้นไว้ให้เราได้วาดภาพตามได้
แต่การอ่านบทละครนั้นต่างออกไป เพราะมันเป็นการอ่านบทสนทนาที่ตัวละครแต่ละตัวคุยกัน เหมือนเราเข้าไปนั่งเป็นผู้ชมในโรงละครมากกว่า การที่มีแค่ชื่อสถานที่บอก ทำให้เราต้องจินตนาการภาพฉากเอาเอง ต้องสร้างองค์ประกอบฉากเองทั้งหมด หรือแม้กระทั่งน้ำเสียง หน้าตาตัวละคร (ในบางเรื่อง) ท่วงท่าของตัวละครขณะที่พูดคุยกันก็ไม่มีคำบรรยาย องค์ประกอบอื่นๆ นอกจากชื่อและบทสนทนาเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องจินตนาการเอาเองทั้งหมด
นั่นทำให้การอ่านบทละครเป็นเรื่องที่สนุกมาก เพราะได้ลองจินตนาการภาพในหัวอย่างอิสระ พอขึ้นองก์ใหม่ ก็จะมีข้อความกำกับฉากบอกเราว่าสถานที่ในเรื่องเป็นสถานที่ไหน เหมือนเวลาเรานั่งดูทีมงานวิ่งวุ่นเปลี่ยนฉากในละครเวที มีข้อความระบุว่าตัวละครใด เดินเข้า-ออกจากฉากบ้าง ก็ทำให้เราคิดถึงภาพเคลื่อนไหวนั้นตาม อีกทั้งบทสนทนาที่โต้ตอบกันนั้นทำให้อ่านได้ลื่นไหล อ่านไปเรื่อยๆ จนบางครั้งอ่านเพลินจนหยุดไม่อยู่
แต่ถึงแม้ว่าอารมณ์ความรู้สึกที่ได้การอ่านบทละครจะแตกต่างจากการอ่านนิยาย แต่สิ่งที่เหมือนกันนั้นคือความเพลิดเพลินที่ได้จากการอ่านนั่นเอง
หากเราลองปล่อยใจไปกับการอ่านบทพูด ไม่ยึดติดกับขนบการอ่านแบบเดิม เราจะได้พบกับความสนุกรูปแบบใหม่ที่หาไม่ได้จากการอ่านงานประเภทอื่นแน่นอน
องก์ 3 : 3 วิธีค้นหาความสนุกจากบทละคร
อย่างที่ได้กล่าวไปในองก์ที่ 2 แล้วว่าครั้งแรกที่ได้อ่านนั้นเรารู้สึกงงมาก ด้วยรูปแบบองค์ประกอบของบทละครที่แทบจะไม่เหมือนการอ่านนวนิยายสักนิด พูดง่ายๆ เลยก็คือเราอ่านไม่เป็นและไม่เคยอ่านมาก่อน ทำให้ต้องใช้เวลางมอยู่พักใหญ่เลยว่าจะอ่านยังไงให้สนุกได้
แต่แน่นอนว่าพอเริ่มจับทางได้ก็อ่านเพลินจนวางแทบไม่ลงเลยทีเดียว
เราเลยอยากมาแชร์ทริกการอ่านฉบับมือใหม่จากประสบการณ์ส่วนตัวของเราเองและคำแนะนำจากเพื่อนๆ ที่ชอบอ่านบทละคร สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านบทละครมาก่อนหรืออาจจะเคยอ่านแต่ยังไม่รู้จะอ่านยังไงให้สนุก บทความนี้ขอนำเสนอวิธีการอ่านบทละครอย่างไรให้สนุกได้ด้วย 3 วิธีง่ายๆ
1. อ่านออกเสียง
การอ่านออกเสียงจะทำให้เราเข้าใจจังหวะการพูดของตัวละครและเข้าใจสารที่ตัวละครกำลังสื่อได้มากยิ่งขึ้น
การอ่านออกเสียงจะเพิ่มความสนุกให้มากยิ่งขึ้นได้ถ้าเราลองแกล้งๆ ใส่อารมณ์ลงในบทที่กำลังอ่านอยู่ด้วย บทบาทสมมติที่เราลองเล่นคนเดียวก็ทำให้เราเอนจอยไปกับเรื่องที่อ่านได้ง่ายๆ
2. สวมบทบาทอ่านกับเพื่อน
นอกจากการอ่านบทเล่นคนเดียวแล้วยังสามารถนำไปอ่านกับเพื่อนได้ด้วยนะ วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้มาจากเพื่อนเอกละครคนหนึ่งที่ใช้วิธีนี้ในการอ่านบทที่จะใช้แสดง (แต่ไม่ใช่การท่องบทหรือต่อบทนะ) แต่ผู้อ่านทั่วไปอาจลองนำมาปรับใช้ได้โดยการเลือกบทบาทที่แต่ละคนชอบและสลับกันอ่านบทของตัวละครนั้น
วิธีนี้จะทำให้เราสนุกไปกับบทละครเรื่องที่กำลังอ่าน เหมือนเราได้ลองเป็นนักแสดงหรือตัวละครนั้นจริงๆ และการอ่านกับเพื่อนที่บางทีก็ตีความบทแตกต่างกัน น้ำเสียงที่ใช้ก็อาจจะต่างจากที่เราเคยจินตนาการไว้ตอนอ่านคนเดียวก็ได้ เหมือนเป็นการอ่านหนังสือที่ได้เล่นสนุกกับเพื่อนไปในตัว ยิ่งถ้ามีเพื่อนหลายๆ คนก็คงจะอ่านกันจนเพลินแน่นอน
3. อ่านแบบโฟกัสแค่บทสนทนา
ถ้าใครเขินที่จะต้องอ่านออกเสียง อยากอ่านเงียบๆ คนเดียว วิธีที่เราใช้ประจำก็น่าจะตอบโจทย์มากที่สุด
นั่นคือการอ่านแบบโฟกัสแค่บทสนทนา เพราะการจดจ่อกับทุกตัวหนังสือมากเกินไปอาจทำให้การอ่านบทละครของเราดูฝืนๆ ไปสักหน่อย อ่านแล้วอาจรู้สึกติดขัดแปลกๆ
งั้นลองคิดตามสิว่านักแสดงที่ต้องอ่านบทละคร จำเป็นต้องอ่านชื่อตัวละครของตัวเองออกมาก่อนพูดบทหรือไม่
คำตอบก็คือ ไม่
เพราะเมื่อนักแสดงกวาดตามองเห็นแล้วว่าบทต่อไปนี้เป็นบทของตน ก็สามารถท่องเฉพาะบทพูดนั้นไปได้เลย
การอ่านบทละครของเราก็เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ต้องท่องบทหรืออ่านออกเสียง เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจดจ่ออยู่กับชื่อตัวละครที่อยู่หน้าข้อความ แค่กวาดตาผ่านให้รู้ว่าเป็นบทของใคร แล้วไปให้ความสนใจกับบทสนทนาของตัวละครนั้นแทน
การอ่านด้วยวิธีนี้จะทำให้บทสนทนาของตัวละครนั้นลื่นไหลไม่ติดขัด เหมือนเห็นตัวละครพูดโต้ตอบกันไปเรื่อยๆ
หรือถ้าใครเคยอ่านพวกนิยายแชตบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง จอยลดา (Joylada) หรือ รี้ดอะไร้ต์ (ReadAWrite) มาบ้างแล้ว ก็อาจจะเข้าใจการอ่านบทละครได้ง่ายขึ้น เพราะบทละครกับนิยายแชตมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่ ตรงวิธีการดำเนินเรื่องที่มีเพียงบทสนทนาของตัวละครเท่านั้น ในนิยายแชตก็จะมีข้อความกำกับว่าเป็นห้องแชตไหน และรูปโปรไฟล์ของตัวละครที่กำลังแชตโต้ตอบกัน ดังนั้นใครที่อ่านนิยายแชตได้ ก็จะสามารถอ่านบทละครได้ไม่ต่างกัน
ปาฐก: อย่างไรก็ตาม การอ่านบทละครเพื่อความบันเทิงในปัจจุบันยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง รวมถึงการตีพิมพ์บทละครเป็นหนังสืออ่านเล่นก็ยังไม่มีให้เห็นมากนักในประเทศไทย แต่เมื่อได้ลองอ่านบทละครดูสักครั้งหนึ่งแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรารู้สึกเพลิดเพลินและหลงใหลไปกับเสน่ห์ของบทละครได้ง่ายๆ เลย
การดำเนินเรื่องและองค์ประกอบที่แตกต่างจากหนังสือบันเทิงคดีชนิดอื่นอาจทำให้เรารู้สึกแปลกตาไม่น้อย ถึงอย่างนั้นพอได้ลองเปิดใจทำความรู้จัก ปล่อยใจไปกับบทสนทนาที่ลื่นไหลบนหน้าหนังสือนี้แล้ว ก็จะค้นพบความสนุกรูปแบบใหม่ที่เราไม่คาดคิดมาก่อน
สุดท้าย ถ้าใครอยากลองอ่านหนังสือบทละครดูก็สามารถ สั่งซื้อ แฮมเล็ต (Hamlet) หรือ โรมีโอกับจูเลียต (Romeo and Juliet) แปลไทยโดย ศวา เวฬุวิวัฒนา ของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมได้ตามช่องทางต่างๆ ได้เลย
แล้วอย่าลืมนำทริกการอ่านง่ายๆ ที่เราแนะนำไปลองใช้ด้วยนะ หรือถ้าใครอ่านแล้วมีวิธีการอ่านบทละครดีๆ ก็เอามาแชร์กันได้นะคะ!
ปิดม่าน
บรรณานุกรม
- Play: Definition, Types & Examples, Functions โดย StudaySmarter
- โรเมโอและจูเลียต พระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รูปภาพนิยายแชต จาก ReadAWrite เรื่อง Prosche ,haeno
- รูปภาพนิยายแชต จาก ReadAWrite เรื่อง green is peace ,markno
- โรมีโอกับจูเลียต : วิลเลียม เชคสเปียร์ — Romeo and Juliet แปลไทยโดย ศวา เวฬุวิวัฒนา
- แฮมเล็ต : Hamlet : William Shakespeare แปลไทยโดย ศวา เวฬุวิวัฒนา